แจง 3 แนวทางPPP สนามบินนครปฐมค่า3หมื่นล.

17 ธ.ค. 2562 | 07:47 น.

     นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาเพื่อทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) “โครงการท่าอากาศยานนครปฐม” ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการสายการบิน และปริมาณอากาศยานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายเปิดเสรีทางการบิน ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งแบบประจำและไม่ประจำในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้การจราจรทางอากาศและสถานที่จอดอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองมีความแออัด

แจง  3 แนวทางPPP  สนามบินนครปฐมค่า3หมื่นล.
              อีกทั้งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ผู้โดยสารและแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองพบว่า ไม่สามารถรอบรับการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในอนาคต กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งท่าอากาศยานแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้สำรวจออกแบบรายละเอียด ประมาณราคาก่อสร้าง ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุน การจัดสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการท่าอากาศยานนครปฐม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งท่าอากาศยานนครปฐม เพื่อศึกษาความต้องการใช้ท่าอากาศยาน และเปรียบเทียบพื้นที่ทางเลือกที่มีศักยภาพในการก่อสร้าง

แจง  3 แนวทางPPP  สนามบินนครปฐมค่า3หมื่นล.
            โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ เศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้าง เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวพบว่า ท่าอากาศยานแห่งใหม่ควรตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้แก่ อำเภอบางเลน (ตำบลบางระกำ ตำบลลำพญา) และอำเภอนครชัยศรี (ตำบลบางแก้วฟ้า ตำบลบางพระ ตำบลวัดละมุด) จังหวัดนครปฐม ซึ่งห่างจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กิโลกเมตร และใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที
             จากการออกแบบโครงการฯ จะมีพื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ทางวิ่งขาก 45 x 2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 หลัง พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถยนต์จอดได้ประมาณ 4,200 คัน สำหรับรูปแบบการลงทุนกรณีให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานนครปฐม จำนวน 3 แนวทางได้แก่

             1. รัฐลงทุนค่าที่ดิน เอกชนลงทุนการก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้รัฐร้อยละ 5 มีระยะเวลาคืนทุน 18.67 ปี
             2. รัฐลงทุนที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นลานจอดอากาศยาน) เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดอากาศยานทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้รัฐร้อยละ 50 มีระยะเวลาคืนทุน 20.25 ปี
             3. รัฐลงทุนที่ดิน งานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดอากาศยานพาณิชย์ เอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดอากาศยานเชิงธุรกิจ โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้รัฐร้อยละ 52 มีระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี

แจง  3 แนวทางPPP  สนามบินนครปฐมค่า3หมื่นล.

            ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องนำเสนอหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณลงทุนต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถรายงานผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมประมาณกลางปี 2563 โดยใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 30,000 ล้านบาท

แจง  3 แนวทางPPP  สนามบินนครปฐมค่า3หมื่นล.