ดีเดย์ 1 มี.ค.63 2 หมื่นปั๊มขายบี10

20 ธ.ค. 2562 | 23:45 น.

 

พลังงานดันบี 10 เต็มสูบ ดีเดย์ 1 มี.. 63 กว่า 2 หมื่นสถานีมีขายทั่วประเทศ กนป.ชี้ปาล์มนํ้ามันยังสดใสสร้างรายได้หมุนเวียนกว่า 8 หมื่นล้านต่อปี นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยผวานํ้ามันปาล์มบริโภคขาดตลาด ส่งสัญญาณอาจต้องนำเข้า

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติ (11 .. 62) เห็นชอบบังคับใช้นํ้ามันดีเซลหมุนเร็วบี10 เป็นนํ้ามันดีเซลเกรดพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้บี 7 และบี 20 เป็นนํ้ามันทางเลือก และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ติดตามประมาณการใช้นํ้ามันกลุ่มดีเซลและประกาศคุณภาพไบโอดีเซลเป็นเกรดเดียวที่สามารถนำมาผลิตนํ้ามันดีเซล ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) เผยกับฐานเศรษฐกิจ”  ว่า นโยบายปรับสมดุลปาล์มเพื่อความยั่งยืน กระทรวงพลังงานได้ประกาศกรอบเวลาดำเนินการไว้ตามลำดับเริ่มจากวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขอความร่วมมือผู้ค้านํ้ามันเพิ่มปริมาณการจำหน่ายบี10 ในสถานีบริการวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ประกาศใช้มาตรฐานไบโอดีเซลบี 100 เกรดเดียว วันที่ 1 มกราคม 2563 ให้ผู้ค้านํ้ามันทุกคลังผลิตบี10 และวันที่ 1 มีนาคม 2563 จะมีบี 10 จำหน่ายในทุกสถานีบริการทั่วประเทศตั้งเป้า 2 หมื่นสถานี โดยเป้าหมาย มีนาคม 2563 จะมีการใช้บี100 วันละ 7 ล้านลิตร สำหรับรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันดีเซลประมาณ 10.5 ล้านคัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 50% ได้หันมาใช้บี10 และไม่มีปัญหาด้านเครื่องยนต์

 

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์มของไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2553-2562) มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์โลก เฉลี่ย 4.71% ต่อปี โดยความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นจาก 1.36 ล้านตันในปี 2553 เป็น 3.03 ล้านตันในปี 2562 ทำให้ปาล์มนํ้ามันเป็นพืชที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้หมุนเวียนภายในประเทศมากกว่าปีละ 8 หมื่นล้านบาท

ดีเดย์ 1 มี.ค.63  2 หมื่นปั๊มขายบี10

 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นอีกมากมาย เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมและเนยเทียม ในด้านพลังงานนํ้ามันปาล์มสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งใช้เป็นพลังงานทดแทนนํ้ามันดีเซล ส่งผลให้ไทยมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มนํ้ามันมากขึ้น โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เนื้อที่ให้ผลผลิตปาล์มนํ้ามันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.37% ต่อปี โดยในปี 2562 คาดมีเนื้อที่ 5.45 ล้านไร่ ผลผลิต 16.80 ล้านตัน คิดเป็นนํ้ามันปาล์มดิบประมาณ 3.02 ล้านตัน เมื่อรวมกับสต๊อกในปี 2561 จำนวน 4.7 แสนตัน ส่งผลให้ในปี 2562 จะมีนํ้ามันปาล์มดิบรวมทั้งหมด 3.49 ล้านตัน

 

ในขณะที่มีความต้องการใช้ 3.05 ล้านตัน (บริโภค 2.61 ล้านตัน มาตรการนำนํ้ามันปาล์มไปผลิตไฟฟ้า 2.3 แสนตัน และการส่งออก 2.5 แสนตัน) คาด สิ้นปี 2562 จะมีสต๊อก 4.1 แสนตัน ซึ่งสูงกว่าระดับสต๊อกที่เหมาะสมที่ 2.5 แสนตัน หรือจำนวน 1.6 แสนตัน ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีโครงการต่างๆ เพื่อดูดซับสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบ อาทิ เพิ่มการใช้บี 7 ปรับเป็นบี10 และการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อนํ้ามันปาล์มดิบ(ซีพีโอ) เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลยังมีนโยบายเดินหน้าเรื่องบี10 เต็มรูปแบบ ก็ควรจะมีการนำเข้านํ้ามันปาล์มบางส่วนเพื่อป้อนให้โรงงานผลิตนํ้ามันปาล์ม เพื่อการบริโภคไม่ให้ขาดตลาด ซึ่งยังไม่แน่ใจว่านโยบายรัฐจะออกมาในรูปแบบใด

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,532 วันที่ 19-21 ธันวาคม 2562

ดีเดย์ 1 มี.ค.63  2 หมื่นปั๊มขายบี10