กกพ.อัด3หมื่นล. ตรึงFtหนุนใช้ไฟฟรี3.8 ล้านราย

20 ธ.ค. 2562 | 03:00 น.

 

การดำเนินงานของสนง.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ดูแลกิจการด้านพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคง ตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วน และกำกับราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม โดยในรอบปี 2562 กกพ.ได้ดำเนินงานสำคัญต่างๆ ไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะการนำเงินมาอุดหนุนค่าไฟฟ้าช่วยลดภาระภาคประชาชน และการอุดหนุนให้บริการแก่ผู้ใช้ ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง เป็นต้น

 

ควัก1.4 หมื่นล้านตรึงค่าไฟ

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของกกพ.ในช่วงปี 2562 ได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการนำเงินที่เรียกคืนค่าไฟฟ้า จากการลงทุนที่ตํ่ากว่าแผน (Claw Back) ปี 2559-2560 และเงินเรียกคืนรายได้จากการปรับปรุงฐานะการเงินของทั้ง 3 การไฟฟ้า มาปรับลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน เป็นเงิน 14,343 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ขายปลีกเรียกเก็บจากผู้ใช้พลังงานคงที่มาแล้ว 3 งวด ในอัตรา -11.60 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ ยังได้นำเงินที่เก็บจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำไปชดเชยให้กับการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อไปดำเนินงานในการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง จำนวน 14,832 ล้านบาท และอุดหนุนค่าไฟฟ้าฟรี สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ติดมิเตอร์ 5 แอมแปร์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน จำนวนประมาณ 3.8 ล้านราย จำนวนเงิน 2,125 ล้านบาท ซึ่งหากรวมงบที่ใช้ดูแลภาคประชาชนในการลดภาระค่าครองชีพและการให้มีไฟฟ้าเข้าถึงราว 3.13 หมื่นล้านบาท

 

กกพ.อัด3หมื่นล.  ตรึงFtหนุนใช้ไฟฟรี3.8 ล้านราย


 

 

อนุมัติเงินช่วยฟื้นฟูท้องถิ่น

อีกทั้ง กกพ. ได้อนุมัติกรอบงบประมาณปี 2563 ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จำนวน 484 กองทุน รวม 3,289 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งมี 320 กองทุนฯ ขอรับการจัดสรรงบประมาณรวมวงเงิน 2,701.13 ล้านบาทเข้ามาแล้ว

ขณะที่การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย กกพ.ได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการ ในวงเงิน 1,880 ล้านบาท มีผู้ยื่นข้อเสนอ 46 ราย เป็นเงินรวมประมาณ 2,054 ล้านบาท และมีผู้ได้รับอนุมัติจัดสรรแล้ว 6 ราย เป็นเงินรวมประมาณ 646.48 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ

ส่วนการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วม ทางด้านไฟฟ้า ได้ออกประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการในวงเงิน 685 ล้านบาท มีผู้ยื่นข้อเสนอ 139 ราย เป็นเงินรวมประมาณ 3,099 ล้านบาท และมีผู้ได้รับอนุมัติจัดสรรจำนวน 18 ราย เป็นเงินรวมประมาณ 463.80 ล้านบาท

 

จัดหาไฟเข้าระบบ9พันMW

สำหรับการกำกับดูแลระบบพลังงานให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ได้จัดหาไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ 7,673 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 9,866 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าแล้ว 7,197 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 8,913 เมกะวัตต์ และการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า เอกชนรายใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท หินกอง เพาเวอร์ จำกัด กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ และบริษัท ไอพีพี ไอพี 2 จำกัด กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากการผลิต ไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tarriff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) การผลิตไฟฟ้าจาก Solar rooftop สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย และการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภท Firm ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562-2568 ซึ่งจะมีการก่อสร้างโรง ไฟฟ้าใหม่มาทดแทน เป็นต้น

 

ลดค่าบริการก๊าซ

นอกจากนี้ ยังได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ สำหรับผู้รับใบอนุญาตเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ ในการคำนวณอัตราค่าบริการของสถานีแอลเอ็นจีใหม่ และได้เห็นชอบอัตราค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ ในส่วนของต้นทุนคงที่ (Ld) ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด สำหรับปี 2561-2565 ทำให้อัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติลดลงจาก 24.93 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 18.35 บาทต่อล้านบีทียู มีผลทำให้ราคาขายปลีกให้ประชาชนลดลงไปด้วย เป็นต้น

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,532 วันที่ 19-21 ธันวาคม 2562

กกพ.อัด3หมื่นล.  ตรึงFtหนุนใช้ไฟฟรี3.8 ล้านราย