กพช.ชี้ขาด ยกเลิกกฟผ.นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

16 ธ.ค. 2562 | 09:58 น.

กพช.ไฟเขียว ยกเลิกกฟผ.นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน และให้ไปนำเข้าในรูปแบบ Spot ไม่เกิน 200,000 ตัน ป้อนโรงไฟฟ้า พร้อมเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2563 – 2567 ในวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้( 16 ธ.ค.62) ได้เห็นชอบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 1 โดยได้รับทราบการดำเนินการเตรียมความพร้อม Shipper รายใหม่ ที่มีความต่างไปจากที่ กพช. ได้มีมติไว้เมื่อ 31 กรกฎาคม 2560 ในส่วนที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) เป็น Shipper รายใหม่ นำเข้า  LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจากสถานการณ์ LNG ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยการจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลง ปริมาณความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้ประมาณการไว้ มีความเสี่ยงที่การนำเข้า LNG ของ กฟผ. 1.5 ล้านตันต่อปี อาจเกิดภาระ Take or Pay และอาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 2 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่ราคา LNG มีแนวโน้มจะลดลง โดย LNG Spot ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู

 

กพช. จึงยกเลิกมติ กพช. เมื่อ 31 กรกฎาคม 2560 ในส่วนที่จะให้ กฟผ. เป็น Shipper รายใหม่ นำเข้า  LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และเห็นชอบให้ กฟผ. เตรียมความพร้อมทำหน้าที่เป็น Shipper รายใหม่ โดยสามารถนำเข้า LNG ในรูปแบบ Spot ไม่เกิน 200,000 ตัน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน( กบง.)  เมื่อ 21 ตุลาคม 2562 พร้อมทั้งเห็นชอบโครงสร้างราคา LNG แบบ Spot ของ กฟผ. โดยล๊อตแรกเดือนธันวาคม 2562 และล๊อต 2 เดือนเมษายน 2563 เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1

กพช.ชี้ขาด ยกเลิกกฟผ.นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

                                         นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

 

นอกจากนั้น กพช. ได้เห็นชอบการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ร่วมกับการไฟฟ้าคู่สัญญาดำเนินการเพื่อให้สามารถปรับรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าของ SPP ชีวมวล ไปเป็น FiT ได้ โดยมีการคำนวณระยะเวลาการปรับลด-เพิ่มอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ SPP ชีวมวล ให้สอดคล้องกับวันที่เริ่มใช้อัตรา FiT และการกำกับอัตราค่าไฟฟ้า ปี 2561–2563 โดยระหว่างการปรับปรุงนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฉบับใหม่ 2564–2568 ให้ กกพ. ใช้หลักเกณฑ์ตามนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย 2554–2558 ไปพลางก่อน

 

​รวมทั้งได้ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าระบบขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ

กพช.ชี้ขาด ยกเลิกกฟผ.นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

พร้อมกันนี้ กพช.ยังได้เห็นชอบการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม Energy Purchase and Wheeling Agreement (EPWA) สำหรับโครงการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซียผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย ระยะที่ 2 (Lao PDR-Thailand-Malaysia Power Integration Project) Phase 2  หรือ LTM-PIP ระยะ 2 พร้อมทั้งมอบหมายให้ กฟผ. สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฯ ได้ทันที เพื่อให้สัญญา EPWA มีความต่อเนื่อง และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาในประเด็นการขอยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโครงการดังกล่าว

 

อีกทั้ง ได้เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2563 – 2567 ในวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท หรือปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะได้บริหารเงินกองทุนฯ ในการนำไปใช้ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ อุดหนุนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ก่อให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น

กพช.ชี้ขาด ยกเลิกกฟผ.นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

 

ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมใหม่ การสร้างบุคลากร และการสร้างความตระหนักเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยเป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนฯ ตามความในมาตรา 25 แห่งพระราช บัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานการใช้พลังงานในภาคเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม อาคารธุรกิจขนาดใหญ่ อาคารธุรกิจขนาดเล็กและบ้านอยู่อาศัย และภาคการขนส่ง ลดลง 30% และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 30% ในปี 2579 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 20 – 25% ภายในปี 2573 ตามถ้อยแถลง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมระดับสูงของประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในระหว่างการประชุม COP 21 ซึ่งการนำเงินกองทุนฯ เข้าไปช่วยสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการตัดสินใจลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือการผลิตและใช้พลังงานทดแทน จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย