ปิดฉากประมูลพื้นที่ทอท. รออีกที ‘นอร์ธเทอร์มินัล’

16 ธ.ค. 2562 | 23:20 น.

 

การเปิดประมูลดิวตี้ฟรี สนามบินดอนเมือง รวมถึงจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร(Duty free Pick-Up Counter) ทั้งในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ครั้งล่าสุดของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ไม่แปลกที่จะไม่หวือหวา

ต่างจากการเปิดประมูลดิวตี้ฟรี ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ รวมถึงการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) ในสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งล้วนแต่มีบิ๊กเนมในธุรกิจค้าปลีก, ดิวตี้ฟรีโลก เข้ามาซื้อซองประมูลแข่งกับคิงเพาเวอร์อย่างคึกคัก อย่าง ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี จับมือ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และDUFRY” ร่วมกับบมจ.โรงแรมรอยัลออคิด แม้ท้ายสุดจะพ่ายคิงเพาเวอร์ไป

คิงเพาเวอร์จ่อคว้าทุกงาน

อย่างไรก็ตามการเปิดประมูลดิวตี้ฟรี สนามบินดอนเมือง รอบนี้ มีเพียงบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัดเพียงรายเดียว ที่เข้าร่วมประมูล แม้ก่อนหน้านี้จะมีกลุ่มเดอะมอลล์ เข้ามาซื้อซองประกวดราคาก็ตาม แต่ก็ชัดเจนว่าเป็นการเข้ามาซื้อซองเพื่อศึกษาข้อมูลเท่านั้น เพราะเดอะมอลล์ คงไม่ได้มองธุรกิจดิวตี้ฟรีอยู่แล้ว

จึงไม่แปลกที่คิงเพาเวอร์จะรักษาพื้นที่เดิมของตัวเอง ซึ่งทำดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมืองมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งการประมูลรอบนี้ตาม TOR ระบุว่าจะต้องเสนอผลตอบแทนขั้นตํ่า 20% ของยอดขายให้ทอท. การที่บิ๊กเนมต่างๆ เมินการเข้าประมูลในครั้งนี้ เป็น 2 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก คือ ความไม่คุ้มค่าในการลงทุนและลงแรง เนื่องจากขนาดพื้นที่ดิวตี้ฟรี ที่สนามบินดอนเมือง ที่อยู่ในระดับหลักพันตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ที่ 1,884 ตารางเมตรเท่านั้น

ทั้งแม้ทอท.มีโครงการจะขยายสนามบินดอนเมือง ในการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ เบ็ดเสร็จแล้วพื้นที่ดิวตี้ฟรี ตามสัญญาใหม่นี้ก็อยู่ที่ไม่เกิน 3,000 ตารางเมตรเท่านั้น ต่างจากพื้นที่หลักหมื่นตารางเมตรในสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเปิดประมูลไปรอบที่แล้ว อีกทั้งสนามบินดอนเมือง เป็นสนามบินโลว์คอสต์ กำลังซื้อลูกค้าก็จะแตกต่างกับสนามบินสุวรรณภูมิ

ทั้งจากการประมูลรอบก่อนก็เห็นแล้วว่าคิงเพาเวอร์ทุ่มเสนอราคาสู้สุดตัวทิ้งห่างคู่แข่งหลุดลุ่ย งานนี้ด้วยการประมูลที่ทิ้งห่างกัน แถมพื้นที่แค่นี้ ยังไงไม่คุ้มค่าเหนื่อยจึงไม่มีใครลงสนามแข่ง

ปัจจัยที่ 2 คือ การเปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร(Duty free Pick-Up Counter) ทั้งในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ทำให้ดิวตี้ฟรีในเมืองมีจุดรับมอบสินค้าดิวตี้ฟรีในสนามบินได้ ความต้องการในการเข้าไปเปิดธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินดอนเมือง ก็จึงถูกลดทอนลงไป

 

ปิดฉากประมูลพื้นที่ทอท.  รออีกที ‘นอร์ธเทอร์มินัล’


 

 

พิกอัพเคาน์เตอร์ไม่คึก

อีกทั้งการเปิดประมูล Duty free Pick-Up Counter ของทอท. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ วันนี้มีเอกชนมาซื้อซองประกวดราคาเพียง 2 ราย คือคิงเพาเวอร์และ BA ก่อนจะเปิดให้มายื่นประมูลในวันที่ 17 มกราคม 2563 โดยผู้ชนะประมูลจะได้สิทธิดำเนินการพิกอัพเคาน์เตอร์ ที่สนามบินดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-31 ธันวาคม 2575 ส่วนพิกอัพเคาน์เตอร์สนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563-31 ธันวาคม 2573

การประมูลพิกอัพเคาน์เตอร์ครั้งนี้ ก็ไม่ได้เนื้อหอมเหมือนก่อนหน้านี้ เมื่อทอท.แจ้งชัดเจนว่านอกจากการให้สิทธิเอกชนให้บริการพิกอัพเคาน์เตอร์ในครั้งนี้แล้ว ทอท.ก็จะเป็นผู้ให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรีด้วยตัวเองคู่ขนานกับเอกชน โดยจัดเก็บค่าบริการในอัตราเท่ากัน คือไม่เกิน 5% ของราคาสินค้า ขณะที่เอกชนที่ชนะประมูล ต้องนำส่งรายได้ให้ทอท. 3% อีก 2% เป็นต้นทุนค่าบริหารจัดการและกำไรที่เอกชนจะได้

จากโมเดลทำพิกอัพเคาน์เตอร์คู่ขนานกับเอกชน ข้อดี คือการเปิดเสรีที่ทำให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมือง เลือกได้ว่าจะใช้จุดส่งมอบสินค้าของใคร แต่ข้อเสียคือ ไม่ต้องแข่งประมูลก็ได้ เพราะก็ไปใช้บริการของทอท.ได้ หากไม่อยากไปใช้บริการของเอกชนที่ชนะประมูล เพราะอาจมีผู้ประกอบการบางคนที่ไม่อยากให้คนอื่น ทราบข้อมูลทาง การค้าของตนเอง ซึ่งค่าบริการก็ไม่ได้ต่างกันมากมาย งานนี้คิงเพาเวอร์ ก็คงทุ่มรักษาพื้นที่พิกอัพเคาน์เตอร์ไว้เหมือนเดิม เพราะไม่เพียงทำให้ข้อมูลการค้าไม่รั่วไหล แถมยังเป็นหน้าเป็นตาของธุรกิจอีกด้วยนั่นเอง

 

รอประมูลพื้นที่นอร์ธเทอร์มินัล

เบ็ดเสร็จจากนี้การชิงประมูลพื้นที่ในสนามบินของทอท. ก็คงไม่มีอะไรฮอตฮิต เพราะกว่าสัมปทานต่างๆ ที่คิงเพาเวอร์จะหมดสัญญาก็ต้องรอไปอีกไม่ตํ่ากว่า 10 ปี ยกเว้นแผนการขยายพื้นที่ด้านทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ทอท.จะสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน ซึ่งหวังว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 เพราะด้วยสเกลพื้นที่อาคารหลังนี้กว่า 348,000 ตารางเมตร พื้นที่ประมูลเชิงพาณิชย์ก็จะอยู่ในหลักหมื่นตารางเมตร ย่อมเป็นแรงดึงดูดการประมูลกลับมาคึกคักอีกครั้ง

นอร์ธเทอร์มินัลจะมีทั้งดิวตี้ฟรีและรีเทล เนื่องจากอาคารผู้โดยสารหลังนี้ จะรองรับเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเริ่มมีการหารือร่วมกันที่จะย้ายเที่ยวบินในประเทศมาไว้ในจุดนี้ ซึ่งก็จะมีบริการของการบินไทย ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์สและไทยเวียตเจ็ท ที่เฉลี่ยผู้โดยสารราว 11 ล้านคน ส่วนที่เหลือจะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่จะเป็นสายการบินในกลุ่มสตาร์ อัลไลแอนซ์ เพื่อให้สะดวกกับการต่อเครื่องกับการบินไทย

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562