บันได 6 ขั้นสู่การสืบทอดธุรกิจ

16 ธ.ค. 2562 | 12:19 น.

คอลัมน์ บิสิเนส แบ็กสเตจ

ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

 

มื่อกล่าวถึงการสืบทอดธุรกิจครอบครัว มักมีการอ้างถึงสถิติที่ว่ามีธุรกิจครอบครัวน้อยกว่า 1 ใน 10 ที่สามารถส่งต่อไปถึงรุ่นที่ 4 ได้ ซึ่งแม้จะเป็นความจริงแต่ดูจากตัวเลขแล้วก็ทำให้ไม่สบายใจนัก ดังนั้นหากต้องการให้การทำงานหนักในการเริ่มต้นธุรกิจเป็นประโยชน์ยาวนานต่อลูกหลานในวันข้างหน้า Paul Pratt ได้วิเคราะห์อุปสรรคในการสืบทอดกิจการและให้คำแนะนำ ดังนี้

1. อุปสรรคหลักคืออะไร ระบุอุปสรรคของครอบครัวเราให้ชัด ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่

1) ความขัดแย้ง  สมาชิกในครอบครัวมีการรับรู้ มุมมองและการจัดลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน บ่อยครั้งที่สมาชิกในครอบครัวจับจ้องอยู่ที่ความแตกต่างจนลืมสิ่งที่พวกเขาแบ่งปันกัน

2) ความเสมอภาค  ในหลายครอบครัวพ่อแม่ให้ลูกของตนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของเท่าๆ กัน แต่อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นเมื่อสมาชิกในครอบครัวรุ่นต่อไปไม่ได้มีส่วนร่วมในธุรกิจระดับเดียวกัน

3) อายุยืน  ด้วยอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น เจ้าของธุรกิจบางคนไม่ยอมวางมือจากธุรกิจจนสายเกินไป คนรุ่นใหม่เองก็อาจเกิดความคับข้องใจเมื่อคนรุ่นอาวุโสพยายามที่จะรักษาทั้งรายได้และอำนาจควบคุมของตนไว้

2. ต้องการจะไปไหน การกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ว่าเราพยายามทำอะไรให้

สำเร็จและทำไม ต้องการให้มรดกของตนเองเป็นอย่างไร มีค่านิยมอะไรที่นิยามตัวตนครอบครัวและธุรกิจของเรากำลังพยายามถ่ายโอนอะไร มรดกหรือความเป็นเจ้าของธุรกิจหรืออำนาจการบริหาร

3. ไปกับใคร การสืบทอดธุรกิจเป็นสิ่งที่ซับซ้อนทั้งในเรื่องของการปฏิบัติจริง อารมณ์และความเชื่อมั่นทางจริยธรรม จึงทำให้การรักษาความเป็นธรรมกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้นกระบวนการนี้จึงต้องคิดและวางแผนอย่างรอบคอบ และจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วม (inclusivity)

บันได 6 ขั้นสู่การสืบทอดธุรกิจ

 

 4. ตัดสินใจกันอย่างไร การกำหนดเป้าหมาย ทิศทางที่ทุกคนมีส่วนร่วมจะทำให้เพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น ต่อไปนี้เป็นเทคนิคที่สามารถช่วยได้

 1) สื่อสารกันอย่างจริงใจ แบ่งปันความคิดและใส่ใจผู้อื่นอยู่เสมอ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเปิดใจให้กว้าง การมีส่วนร่วมที่ได้รับข้อมูลครบถ้วนเท่านั้นจึงสามารถนำมาหาฉันทามติได้ และฉันทามติเป็นสิ่งสำคัญต่อผลลัพธ์ที่ใช้ได้กับทุกคน

2) มีผู้ตัดสิน ความขัดแย้งและความเห็นแตกต่างเป็นสิ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผู้ตัดสินใจต้องทำงานโดยการฟัง เรียนรู้และทำความเข้าใจ รวมถึงสร้างกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งก่อนที่จะเกิดขึ้น

3) ยึดหลักเห็นพ้องกันเสมอ คือการเห็นด้วยมากที่สุด ต้องมั่นใจว่าทุกฝ่ายอธิบายความรู้สึกและพยายามเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน ซึ่งในการแก้ไขปัญหาใดๆจะต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งหมดนี้ด้วย ระบุค่านิยมร่วมขององค์กร ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับอนาคตต่อไป

5. ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาหรือมืออาชีพภายนอกใช้ได้ผลในหลายกรณี โดยผู้ตัดสินที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวสามารถช่วยหาวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ บุคคลที่สามไม่เพียงสามารถช่วยสร้างและรักษาบรรยากาศของความร่วมมือเอาไว้ได้เท่านั้น แต่จากประสบการณ์ของพวกเขายังสามารถคาดการณ์และคลี่ คลายสถานการณ์ที่ยากลำบากก่อนที่จะเกิดความเสียหายไปมากกว่านั้นได้อีกด้วย

 

6. ขั้นตอนต่อไปคืออะไร การถ่ายโอนกิจการที่ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายรูปแบบ แต่มักมีบางสิ่งที่เหมือนกัน ได้แก่

1) เริ่มต้นแต่เนิ่นๆ

2) เห็นพ้องต้องกัน

3) สร้างแผนที่สมจริงด้วยการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

4) ทบทวนแผนอย่างสมํ่าเสมอ

5) ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแผนยังคงมีประสิทธิผล

6) แก้ไขแผนเมื่อจำเป็นและรักษาการมีส่วนร่วม

7) สิ่งสำคัญที่สุดคือตรวจสอบให้แน่ใจว่ากระบวนการขับเคลื่อนไปตามที่ตกลงกันไว้

8) เป้าหมายและระบบค่านิยมนำมาซึ่งความสำเร็จ เนื่องจากเป็นรากฐานของการถ่ายโอนกิจการที่ประสบความสำเร็จ

 

ที่มา : Pratt, Paul. 2019. The Path to a Successful Transition. Available: https://www.tharawat-magazine.com/sustain/family-business-succession-issues/#gs.kec88s

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562

บันได 6 ขั้นสู่การสืบทอดธุรกิจ