นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย ช่วย SMEs ยุค disruption

12 ธ.ค. 2562 | 09:40 น.

 

อว.ขานรับนโยบายรัฐบาล งดใช้ถุงพลาสติก  ผนึกภาคเอกชน-เอสเอ็มอี ไทย สร้างนวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย 100% จากแป้งมันสำปะหลังปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกไทย ตอบโจทย์เอสเอ็มอีที่ถูกผลกระทบ ต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการเกษตร  

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์  รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงได้ดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติเห็นชอบการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะพลาสติก  ซึ่งปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกในประเทศไทยด้วยการวิจัยและพัฒนา ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร  โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย อีกทั้งยังตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ไทย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย  ช่วย SMEs ยุค disruption

“ยุคปัจจุบันการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ทั้งตามเทคโนโลยี และนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม การงดใช้ถุงพลาสติกมีผลทำให้เอสเอ็มอีหลายรายอาจถูก disruption กระทรวงจึงมีการพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอี และจะพัฒนาต่อยอดต่อเนื่องตามความต้องการของเอสเอ็มอีด้วย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการถูก disruption  ก็ยังเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีด้วย  เนื่องจากปัจจุบันภาคเอกชนมีการผลิตพลาสติกชีวภาพประมาณ 1% เท่านั้น แต่เชื่อว่าจะปรับเปลี่ยนเป็น 100% ใน 5 ปี อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาขณะนี้จะยังคงแพงแต่เมื่อความต้องการของตลาดมีมาก  ราคาก็จะกลับไปสู่ ณ จุดเดิม”

ทั้งนี้ นวัตกรรมวิจัยและพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยและภาคเอกชนของไทย โดย เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกย่อยสลายได้ 

นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย  ช่วย SMEs ยุค disruption

“ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับใส่ขยะเศษอาหาร นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนาตอบโจทย์ BCG Economy ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าหรือการประยุกต์ใช้งานและการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตร เพื่อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิม มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ลดปริมาณถุงพลาสติก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  โดยเปลี่ยนมันสำปะหลังซึ่งพัฒนาสูตรในห้องปฏิบัติการเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มคุณสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางและผลิต ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร ย่อยสลายได้ภายใน 3 - 4 เดือน”

นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย  ช่วย SMEs ยุค disruption นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย  ช่วย SMEs ยุค disruption

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุลผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัญหาของขยะพลาสติกทั้งบนบกและในทะเล เป็นปัญหาที่สำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก  โดยไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 10 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก  สาเหตุมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ซึ่งมีอัตราส่วนมากถึง 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด  และจากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 7 ชนิด ที่พบมากในทะเลของไทย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการจัดการขยะมีความจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกเพื่อรวบรวมและขนส่งขยะ เช่น ขยะเศษอาหาร ไม่ให้ปนเปื้อนกับขยะที่รีไซเคิลได้และขยะอื่นๆ

นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย  ช่วย SMEs ยุค disruption  

“สวทช. โดย  เอ็มเทค จึงได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคอมพาวด์ย่อยสลายและถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร โดยนำแป้งมันสำปะหลังมาเป็นวัตถุดิบเริ่มต้น ตอบโจทย์ BCG เพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและยกระดับรายได้ให้เกษตรกร พร้อมทั้งเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีกล่าวให้กับภาคเอกชนต่อไป” 

นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย  ช่วย SMEs ยุค disruption

นายเขม  หวั่งหลี  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันนี้มีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1% ของการใช้พลาสติกทั้งหมด และอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สำคัญ คือ ปัญหาในด้านต้นทุนการผลิต และประสิทธิภาพในการใช้งาน ทำให้การนำมาประยุกต์ใช้จริงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นบริษัทจึงได้คิดค้นพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรให้อยู่ในรูปของเม็ดพลาสติก เป็นรายแรกของประเทศไทยที่ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง โดยถุงสำหรับใส่ขยะเศษอาหารนี้มีส่วนผสมของไบโอพลาสติกนี้มีชื่อว่า TAPIOPLAST สามารถทำให้เกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อใช้ TAPIOPLAST เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ย่อยสลายทางชีวภาพหลากหลายชนิด รวมถึงถุงเพาะชำกล้าไม้ เป็นต้น จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และราคาลดลง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ทำให้ขยายการใช้ในวงกว้างประกอบกับการจัดการขยะที่ถูกวิธี 

นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย  ช่วย SMEs ยุค disruption

เมื่อทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดัน เพื่อสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของประเทศสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันในระดับชาติ ทำให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เกิดความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ดังนั้นการพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จึงเป็นการปฏิบัติใช้หลักการเศรษฐกิจแบบ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3530 วันที่ 12-14 ธันวาคม 2562