8 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคล

10 ธ.ค. 2562 | 05:16 น.

ที่มา :"คลังความรู้การลงทุน"บล.เคที ซิมิโก หนังสือ “เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่ง ด้วยการวางแผนการเงิน”

 

 

ความเข้าใจผิดข้อที่ 1 : ยิ่งหาเงินได้มากเท่าไหร่ คุณยิ่งรวยมากขึ้นเท่านั้

ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดอันดับต้นๆ ที่คนมักจะเข้าใจผิดกัน และทำให้การเงินส่วนบุคคลของเขาไม่ไปไหน เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดระหว่างคำว่า “รายได้” และคำว่า “ความมั่งคั่งสุทธิ” และไม่รู้ว่าคำสองคำนี้มีความหมายที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร
รายได้ (Earnings) หมายถึง ผลประโยชน์ที่เราพึงได้รับจากการประกอบอาชีพ อาจจะได้รับในรูปตัวเงินหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) หมายถึง ขนาดของสินทรัพย์รวมของบุคคล หักออกด้วยหนี้สินรวมของบุคคล
อธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจง่ายมากขึ้น รายได้คือเงินที่คุณได้มาจากการประกอบอาชีพหรือการทำงาน (Active Income = รายได้จากการทำงาน) หรือได้จากการนำเงินไปลงทุนให้ออกดอกผลงอกเงย (Passive Income = รายได้จากสินทรัพย์ หรือให้เงินทำงาน)
ถ้าคุณมีรายได้มาก ในขณะเดียวกันคุณก็มีรายจ่ายมากตามไปด้วย คุณก็จะไม่เหลือเงินออม ซ้ำร้ายบางคนที่มีการใช้จ่ายเกินไป คุณอาจประสบปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้การเป็นหนี้ยังตามมาด้วยภาระในการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่ดอกเบี้ยเงินกู้มักจะแพงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก (เป็นอย่างมาก) และนั่นจะทำให้คุณไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งหรือความร่ำรวยขึ้นมาได้เลย
ลำดับถัดมา การมีสินทรัพย์เยอะๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนร่ำรวยด้วยเหมือนกันนะคะ ถ้าคุณเป็นคนที่มีสินทรัพย์เพื่อการใช้สอยเยอะ แต่การได้มาซึ่งสินทรัพย์นั้น ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ทำให้เมื่อรวมมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดที่คุณมี หักด้วยหนี้สินที่คุณกู้มา แล้วทำให้ฐานะการเงินติดลบ
อย่าให้การมีรายได้มากๆ หรือสินทรัพย์เพื่อการใช้สอยมากๆ เป็นเครื่องลวงตาทำให้คุณเข้าใจผิด เพราะสิ่งที่เราใช้วัดความร่ำรวยจริงๆ ก็คือ ความมั่งคั่งสุทธิ อย่างที่กล่าวไปแล้ว ความมั่งคั่งสุทธิ คือ การนำสินทรัพย์ที่คุณมีทั้งหมด หักด้วยหนี้สินทั้งหมด เหลือเท่าไหร่ก็จะเป็นส่วนของคุณ ยิ่งคุณมีความมั่งคั่งสุทธิมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งเป็นคนร่ำรวยมากเท่านั้น
 
ความเข้าใจผิดข้อที่ 2 : การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของคนรวย

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนทุกระดับฐานะการเงิน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี ยิ่งมีหนี้ ยิ่งมีเงินน้อย หรือยิ่งไม่มีเงินเก็บเลยยิ่งต้องรีบวางแผนทางการเงิน เพราะถ้าคุณไม่รีบวางแผนการเงินตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คุณจะหลุดพ้นจากวงจรความจนไปได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีปัญหาการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้ามีการวางแผนการเงินที่ดี ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย รู้ที่มาที่ไปของเงิน ลดหรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้มีเงินออมมากขึ้น สามารถนำไปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ และมีวินัยทำต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้ฐานะการเงินดีขึ้นได้
 
ความเข้าใจผิดข้อที่ 3 : รวยแล้วไม่จำเป็นต้องวางแผนการเงินก็ได้

นี่เป็นอีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะชะล่าใจหรือมั่นใจมากจนเกินไปกับฐานะการเงินหรือความมั่งคั่งร่ำรวยที่ตนเองมีอยู่ จึงทำให้ไม่สนใจและละเลยจะวางแผนการเงิน ทำให้เกิดความประมาทในการใช้ชีวิต และอาจนำมาซึ่งความเสียหายและส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน ทำให้ความมั่งคั่งสุทธิลดลง
 
ความเข้าใจผิดข้อที่ 4 : ไม่ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อหรือประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำเกินไป

เงินเฟ้อคืออะไร เงินเฟ้อคือสภาวะที่ข้าวของแพงขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือสภาวะที่เงินลดค่าลงเรื่อยๆ ความหมายของเงินที่ลดค่าลงเรื่อยๆ ก็คือ เงิน 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถซื้อข้าวของเครื่องใช้ได้เท่ากับการใช้เงิน 100 บาทซื้อข้าวของในวันนี้ ลองนึกย้อนกันดูนะคะว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วเราซื้อก๋วยเตี๋ยวทานกันชามละเท่าไหร่ สัก 15 บาทหรือ 20 บาทได้ไหมคะ แล้วราคาก๋วยเตี๋ยวเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่ที่ชามละเท่าไหร่ น่าจะสัก 30 บาทได้ แล้วทุกวันนี้คุณกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 40-50 ใช่ไหมคะ
ดังนั้น เงินหลักร้อยในวันข้างหน้าอาจจะซื้อไม่ได้แม้กระทั่งก๋วยเตี๋ยว 1 ชามและเงินหลักล้านที่คุณมีหรือกำลังจะมีก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับใช้ในยามเกษียณอีกแล้วก็เป็นได้ อย่าได้ประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อจนต่ำเกินไป เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาดค่ะ
 
ความเข้าใจผิดข้อที่ 5 : การวางแผนการเงิน คือ การวางแผนการลงทุน

ปัจจุบันความหมายของการวางแผนการเงินมักถูกนำไปตีความในวงแคบๆ คือการวางแผนการลงทุน ซึ่งถูกต้องเพียงแค่บางส่วน จริงๆ แล้วขอบเขตของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลครอบคลุมกว้างกว่าการวางแผนการลงทุน การวางแผนการลงทุนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเริ่มต้นจากการวางแผนสภาพคล่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่มากเพียงพอ (อย่างน้อย 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งเดือน) ถัดมาก็จะเป็นเรื่องของการวางแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อปกป้องความมั่งคั่งผ่านทางการวางแผนภาษี การวางแผนการเกษียณอายุและการวางแผนการลงทุน และสุดท้ายก็จะเป็นการกระจายความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อทรัพย์สินที่ได้สั่งสมมาต่อไปให้แก่ลูกหลานหรือทายาทผ่านการวางแผนมรดก ซึ่งในการวางแผนการเงินที่ถูกต้องครบถ้วน จะต้องมีการวางแผนที่ครอบคลุมทุกแผนที่กล่าวมา
 
ความเข้าใจผิดข้อที่ 6 : การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องของอนาคต

หลายคนคิดว่าการวางแผนเกษียณอายุเป็นเรื่องของคนใกล้เกษียณอายุแล้วเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือบางส่วนที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของวัยกลางคนจึงมักละเลย และคิดว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วน ประเด็นคือคุณต้องมีการจัดสรรเงินออมบางส่วนไว้เพื่อเป้าหมายระยะสั้น ไปพร้อมๆ กับจัดสรรอีกส่วนไว้เพื่อเป้าหมายในระยะยาว คือการเกษียณอย่างมั่งคั่งไว้ด้วย ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะถ้าเรามีการออมหรือลงทุนอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และมีระยะลงทุนที่ยาวนานพอ ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นทบดอก และผลตอบแทนจากการลงทุนจะช่วยให้เงินออมเพื่อวัยเกษียณของคุณงอกเงยต่อเนื่อง
 
ความเข้าใจผิดข้อที่ 7 : การวางแผนภาษีกับการหนีภาษีเป็นเรื่องเดียวกัน

ข้อเท็จจริงคือทั้งสองเรื่องแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย การหนีภาษีเป็นการหลีกเลี่ยงหรือมีเจตนาที่จะไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีให้น้อยลง เช่น การยื่นแสดงรายได้ไม่ครบถ้วนหรือต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อให้มีภาระภาษีที่น้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายมีความผิดทั้งอาญาและทางแพ่ง ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งค่ะ ในขณะที่การวางแผนภาษีเป็นการอาศัยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดให้เพื่อช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติตามสามารถลดหย่อนภาระภาษีที่ต้องเสียให้แก่รัฐลงได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำเงินที่ประหยัดจากภาระภาษีที่ลดลง ไปใช้ในการออมการลงทุน และในด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ตนเองได้ค่ะ
 
ความเข้าใจผิดข้อที่ 8 : แผนการเงินของใครก็เหมือนๆ กัน ทำครั้งเดียวใช้ได้ตลอด

คุณเคยเดินไปช็อปปิ้งเลือกซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามห้างสรรพสินค้ามั๊ยคะ ขนาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังมีหลากสี หลายขนาดเพื่อให้คนที่มีรูปร่างต่างๆ กันได้เลือกซื้อเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของแต่ละคนที่มีขนาดตัวที่แตกต่างกันไป แล้วเมื่อพอเวลาเปลี่ยนไป รูปร่างคุณอาจจะเปลี่ยนไป ทำให้ใส่เสื้อผ้าชุดเดิมไม่ได้ คุณก็ต้องไปหาซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ (บางคนไม่ต้องรอรูปร่างเปลี่ยน ก็สามารถช็อปปิ้งชุดใหม่อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว) แล้วนี่เป็นแผนการเงินของคุณเลยนะ แผนที่จะพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการที่มีเงินเพียงพอที่จะส่งให้ลูกๆ เรียนหนังสือจบ หรือพาคุณไปถึงอิสรภาพทางการเงินที่อยากได้ ถึงแม้ว่าแผนการเงินส่วนบุคคลจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน แต่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไปค่ะ เนื่องจากแต่ละคนมีเงื่อนไปข้อจำกัดเฉพาะบางประการที่แตกต่างกัน เช่น มีเป้าหมายและฐานะทางการเงินที่แตกต่างกัน ย่อมต้องการวิธีการและแผนการเงินในรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นแผนการเงินของใครก็ตามจะเป็นแผนเฉพาะที่ตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเงินของบุคคลนั้นๆ ในบางครั้งอาจนำไปปรับใช้กับบุคคลอื่นที่มีลักษณะเฉพาะและฐานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกันได้ แต่จะขาดๆ เกินๆ ไม่สมบูรณ์แบบ และอาจจำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดีค่ะ ถ้าจะเปรียบกับขนาดของเสื้อ การทำแผนการเงินส่วนบุคคลเปรียบเสมือนเสื้อที่มีการวัดตัวให้พอดีเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล หรือเป็นเสื้อสั่งตัด ไม่ใช่เสื้อสำเร็จรูปทั่วไป และจะต้องมีการทบทวนแผนการเงินส่วนบุคลเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งด้วยค่ะ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว ขนาดเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่ เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าคุณมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป คุณยังต้องซื้อหรือสั่งตัดเสื้อผ้าใหม่เลยค่ะ

แผนการเงินของคุณก็เช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป สมมติฐานทางการเงินของคุณก็อาจจะเปลี่ยนไป เงื่อนไขต่างๆ ที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องมีการปรับแผนการเงินใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป และให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แผนการเงินที่ไม่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละบุคคลที่เปลี่ยนไป ไม่สามาถทำให้บุคคลที่เป็นเจ้าของแผนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินตามที่ต้องการได้ค่ะ ดังนั้น ต้องอย่าลืมหมั่นทบทวนแผนการเงินของคุณอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าคุณยังอยู่บนเส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงิน