สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (39)

12 ธ.ค. 2562 | 11:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3530 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 ธ.ค.62 โดย... บากบั่น บุญเลิศ


สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
ประวัติศาสตร์การประมูล(39)



          ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

          กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี 

          สัญญาที่จะลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามร่างสัญญากันในเรื่องสัญญาเรื่องการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญา และการชำระเงิน

          (ค) ประกันภัยสำหรับธุรกิจชะงัก (Business Interruption Insurance) ซึ่งครอบคลุมการสูญเสียรายได้ของเอกชนคู่สัญญา เมื่อโครงการต้องหยุดชะงักลงอันเป็นผลมาจากความเสียหายที่เกิดต่อทรัพย์สินที่อยู่บนพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯได้ทั้งหมด ทั้งนี้ให้มีการจัดทำประกันภัยในวงเงินตามที่คู่สัญญาตกลงกันโดยพิจารณาจากประมาณการรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ณ ขณะที่มีการจัดทำประกันภัยนี้

          เอกชนคู่สัญญาจะต้องจัดทำพร้อมส่งมอบสำเนากรมธรรม์และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยประเภทนี้ให้แก่ รฟท.ภายในหกสิบ(60)วัน นับจากวันที่ รฟท.ส่งมอบหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญาได้มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการข้างต้นให้แก่ รฟท.เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31.2 ทั้งนี้เอกชนคู่สัญญา ตกลงจะแบ่งค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากประกันภัยประเภทนี้ ให้แก่ รฟท.ตามที่ รฟท.มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากโครงการฯ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

          20.2 การส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับการประกันภัย เอกชนคู่สัญญาจะต้องส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับการประกันภัยที่จัดทำขึ้นตามข้อ 20.1 ให้แก่ รฟท.เช่น กรมธรรม์ หรือหลักฐานการต่ออายุกรมธรรม์ ในทันทีที่มีการจัดทำกรมธรรม์ หรือต่ออายุกรมธรรม์หรือภายในเจ็ด(7)วัน นับตั้งแต่วันที่กรมธรรม์ฉบับเดิมสิ้นความคุ้มครอง แล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นก่อน

 

          20.3 ข้อตกลงกระทำการเกี่ยวกับการประกันภัย เอกชนคู่สัญญา มีหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้เกี่ยวกับการประกันภัย

          (1) ไม่ดำเนินการใดๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัยรวมถึงการกระทำหรืองดเว้นกระทำการใดๆ หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับเงื่อนไขของการประกันภัย ซึ่งอาจมีผลทำให้ รฟท.หรือเอกชนคู่สัญญา ไม่สามารถใช้สิทธิเรียกร้อง หรือบังคับจากผู้รับประกันภัยได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือทำให้สัญญาประกันภัยไม่มีผลใช้บังคับทั้งหมดหรือบางส่วน หรือทำให้ผู้รับประกันภัยใช้กล่าวอ้างหรือยกเป็นข้อต่อสู้เพื่อยกเว้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน(2) ไม่โอนสิทธิเรียกร้อง ก่อภาระติดพัน หรือจำหน่ายไม่ซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ภายใต้สัญญาหรือกรมธรรม์ประกันภัย เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก รฟท.ก่อน หรือเพื่อเป็นหลักประกันต่อผู้สนับสนุนทางการเงินตาม

          (3) เพื่อปรับและเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข จำนวนเงินเอาประกันภัย ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและมาตรฐานที่ยอมรับได้ในธุรกิจประกันภัยสำหรับการดำเนินโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นๆ และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ปัจจัยความเสี่ยง และความผันผวนของค่าเงิน คู่สัญญาตกลงที่จะเจรจาปรับเงื่อนไขของการประกันภัย เงื่อนไขเกี่ยวกับทุนประกันหรือวงเงินเอาประกันภัยของแต่ละประกันภัยที่จัดทำขึ้นตามที่กำหนดไว้ในข้อ 20.1 ในทุกๆ สี่(4)ปี นับจากวันที่มีการจัดทำประกันภัยดังกล่าวหรือระยะเวลาอื่นตามที่คู่สัญญาพิจารณาตกลงกัน

          21. ทรัพย์สินทางปัญญา 21.1 ทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญาจัดหา ตลอดระยะเวลาของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบจัดหาหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ รฟท.และเอกชนคู่สัญญา มีสิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญาทั้งปวงในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งงานระบบรถไฟและการให้บริการเดินรถไฟของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ จากบุคคลที่เป็นผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายไทย

          21.2 ทรัพย์สินทางปัญญาของ รฟท. (1) กรณี รฟท.อนุญาตให้เอกชนคู่สัญญา และ/หรือผู้รับจ้างใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของ รฟท.หรือที่ รฟท.มีสิทธิ เอกชนคู่สัญญาจะใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของ รฟท.ดังกล่าวเพื่อการดำเนินโครงการฯ และจะดำเนินการให้ผู้รับจ้างที่ได้รับอนุญาต ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของ รฟท.ดังกล่าวเพื่อการดำเนินโครงการฯ ด้วย ทั้งนี้ภายในระยะเวลาของโครงการฯ เท่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก รฟท.

          (2) ภายใต้บังคับการแห่งกฎหมายไทย คู่สัญญาตกลงให้ รฟท.เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาใหม่จากการดำเนินโครงการฯ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน โดย รฟท. ตกลงให้เอกชนคู่สัญญามีสิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวเพื่อการดำเนินโครงการฯ ตามสัญญาร่วมลงทุนได้ ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญาจะต้องไม่ให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวเว้นแต่ให้ผู้รับจ้าง หรือเมื่อได้รับอนุมัติจาก รฟท.

 

          21.3 คำรับรองและคำรับประกันเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุน เอกชนคู่สัญญาตกลงให้คำรับรองและคำรับประกันเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญาจัดหาตามข้อ 21.1 ดังต่อไปนี้

          (1) ทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญาจัดหามาเพื่อการดำเนินโครงการฯ ไม่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และ

          (2) ไม่มีภาระผูกพันใดๆ อยู่เหนือทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญานำมาใช้ในการดำเนินโครงการฯ นอกจากกรณีที่เอกชนคู่สัญญาได้แจ้งให้ รฟท.ทราบถึงภาระผูกพันดังกล่าวในเวลาที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญานั้นมาใช้ในการดำเนินโครงการฯ หรือกรณีที่ได้รับอนุมัติจาก รฟท.

          21.4 ข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (1) เอกชนคู่สัญญาตกลงรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.และเอกชนคู่สัญญาอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการดำเนินโครงการฯ หากมีการเรียกร้องค่าเสียหายหรือความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น หรือเกี่ยวเนื่องมาจากการใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้จัดหามาตามข้อ 21.1 รวมไปถึงกรณีที่ รฟท.หรือบุคคลอื่นใดซึ่งเข้าดำเนินโครงการฯ ต่อจากเอกชนคู่สัญญา ไม่สามารถใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการดำเนินโครงการฯ ได้อันเนื่องมาจากเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาภายในกำหนดระยะเวลา ข้อ 21.5หรือ รฟท.หรือบุคคลอื่นใดซึ่งเข้าดำเนินโครงการฯ ต่อจากเอกชนคู่สัญญา ไม่สามารถใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่ส่งมอบได้อันเนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น เว้นแต่ในกรณีที่เกิดจากความผิดหรือการกระทำของ รฟท.

          (2) เอกชนคู่สัญญาตกลงที่จะให้ความร่วมมือแก่ รฟท.หรือบุคคลที่ รฟท.และเอกชนคู่สัญญาอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการดำเนินโครงการฯ ในการต่อสู้คดีที่เกิดขึ้น หรือเกี่ยวเนื่องมาจากการใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้จัดหามาตามข้อ 21.1 ความร่วมมือดังกล่าวรวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูล การเข้าเป็นโจทย์หรือจำเลยร่วมรับผิดชอบในค่าทนายความ ที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการต่อสู้คดี รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการจัดหาทรัพย์สินทางปัญญาอื่นใดเพื่อทดแทนทรัพย์สินทางปัญญาที่พิพาท ตลอดจนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ รฟท.ต้องถูกดำเนินคดีดังกล่าวจากการใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาที่เอกชนคู่สัญญาจัดหามาตามสัญญาร่วมลงทุนด้วย

          อย่าเพิ่งเบื่อเด้อ...เรื่องใหญ่มันต้องยาว!

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (38)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (37)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (36)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (35)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (34)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (33)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (32)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (31)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (30)