ธุรกิจความงามไทยลุยตลาดจีน

11 ธ.ค. 2562 | 02:40 น.

 

คอลัมน์ชี้ช่องจากทีมทูต

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

 

เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ความงาม หรือ เครื่องสำอาง หลายคนคงนึกถึงแบรนด์ยุโรป แบรนด์ญี่ปุ่น หรือแบรนด์เกาหลี แต่แท้จริงแล้วแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามของไทยก็ไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เพราะเมื่อพูดถึงของฝากที่กำลังมาแรงและนักท่องเที่ยวจีนนิยมซื้อกันอย่างมากเพื่อเป็นของฝากจากประเทศไทย ก็ไม่พ้น สินค้าเพื่อความงาม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ไปถึงผลิตภัณฑ์สปา

 

จากการค้นหาคอลัมน์และเว็บบอร์ดท่องเที่ยวไทย พบว่า แบรนด์สินค้าเพื่อความงามของไทยที่คนจีนแนะนำว่าควรซื้อติดมือเป็นของฝาก ได้แก่ มิสทีน (Mistine) สเนลไวท์ (Snail White) บิวตี้ บุฟเฟต์ (Beauty Buffet) คิวท์เพรส (Cute Press) แอนเจอรี่ (ANJERI) และเรย์ (RAY) และจากความนิยมดังกล่าว ทําให้แบรนด์สินค้าเพื่อความงามของไทยทยอยบุกตลาดจีนกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีกระแสตอบรับจากผู้บริโภคจีนไม่ใช่น้อยๆ

 

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า หากมองเข้าไปในตลาดเครื่องสำอางในจีนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และด้วยข้อมูลจาก Euromonitor ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านข้อมูลทางการตลาด ยังชี้ให้เห็นว่า ในปี 2560 ยอดขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในจีนมีมูลค่าถึง 186,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 10.3% และยอดขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแต่งหน้ามีมูลค่า 34,400 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 21.3% โดยชาวจีนนิยมซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแบรนด์ของต่างประเทศมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันข้อมูลจาก กรมสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า มูลค่าขายปลีกผลิตภัณฑ์ความงามในปี 2561 มีมูลค่าถึง 261,900 ล้านหยวน โดยตลาดความงามในจีนนั้นมีการเจริญเติบโตขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามในจีนมีขนาดใหญ่มาก และพร้อมขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามสภาวะเศรษฐกิจทำให้เป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากต่างประเทศที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น รวมถึงสินค้าจากผู้ประกอบการไทยด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าประเภทเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสู่จีนจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานจีนกำหนด โดยประการแรก จะต้องได้รับใบอนุญาต CFDA (China Food and Drug Administration) ก่อน ซึ่งใช้เวลาตามกระบวนการอย่างน้อย 6 เดือน จนถึง 3 ปี ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการด้วยตนเองหรือใช้บริการผ่านบริษัทนำเข้า-ส่งออกก็ได้  ทั้งนี้ ต้องจัดเตรียมเอกสาร ได้แก่

 

(1) ใบแสดงการตรวจสอบคุณภาพสินค้า (Certificate of Inspection and Quarantine of Inbound Goods)

(2) ใบอนุญาตนำสินค้าเข้า (Import License) ซึ่งปัจจุบัน สามารถยื่นคำร้องออนไลน์กับ CFDA โดยตรงได้ที่ www.sfda.gov.cn/WS01/CL0504/32374.html (สำหรับเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ) และที่ www.sfda.gov.cn/WS01/CL0504/32373.html (สำหรับเครื่องสำอางทั่วไป) และจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 20 วัน พร้อมทั้งนำส่งตัวอย่างสินค้าเพื่อดำเนินการ Sample Test

(3) ใบอนุญาตอื่นๆ ประกอบการยื่นขอนำเข้าสินค้า อาทิ ใบรับรองแหล่งผลิต (Certificate of Producing Place) ใบรับรองสุขอนามัย (Certificate of Hygiene) ใบขนส่งสินค้า สัญญาระหว่างบริษัทนำเข้า-ส่งออก และใบรับรองการจดทะเบียนนำเข้ายา (Import Drug Registration Certificate) ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีส่วนผสมของยา

(4) ชื่อคำแปลผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้า พร้อมทั้งรายละเอียดของส่วนผสม น้ำหนัก (หน่วยสากล) วันผลิต วันหมดอายุ วิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ และชื่อและที่อยู่บริษัทที่นำเข้าหรือจัดจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในประเทศจีนโดยข้อมูลทั้งหมดต้องเป็นภาษาจีน

ธุรกิจความงามไทยลุยตลาดจีน

นอกจากนี้ ช่องทางออนไลน์ยังถือเป็นช่องทางที่สำคัญในการตีตลาดจีน เพราะเนื่องจากความสะดวกและประหยัดเวลา ทำให้ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนนิยมซื้อเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ทิศทางการซื้อขายออนไลน์ในจีนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2551 จีนมีมูลค่าการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์รวม 3.14 ล้านล้านหยวน และทยอยขยายตัวขึ้นในแต่ละปีจนถึงปี 2561 มีมูลค่ารวมสูงถึง 31.63 ล้านล้านหยวน เป็นการขยายตัวถึง 10 เท่าในช่วงระยะเวลา 10 ปี ทำให้จีนได้ครองแชมป์การเป็นตลาดซื้อขายปลีกผ่านระบบออนไลน์ใหญ่ที่สุดในโลก

 

จากตัวเลขสถิติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงพฤติกรรมการบริโภคในจีนที่ได้ก้าวสู่ ยุคออนไลน์ อย่างเต็มตัว ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เครือข่ายออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญเพื่อขยายธุรกิจในจีน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ไม่ยาก และใช้งบประมาณไม่สูง จึงทำให้ทั้ง มิสทีนและ สเนลไวท์เล็งเห็นเครือข่ายออนไลน์เป็นช่องทางแรกสำหรับทำตลาดในจีน โดยพบว่าทั้งสองแบรนด์ไทย ได้ขยายธุรกิจสู่ตลาดจีนโดยเริ่มต้นจากช่องทางออนไลน์ก่อนที่จะตั้งหน้าร้านจริงขึ้น ซึ่งช่องทางออนไลน์ที่สำคัญ อาทิ (1) Tmall JD.com (2) VIP.com (3) Jumei.com พร้อมกับการทําการตลาดผ่าน Social Network ต่าง ๆ ได้แก่ (1) Kuaishou (2) Huoshan (3) Douyin (Tik Tok) และ (4) Little Red Book

 

ระยะเวลา 2-3 ปีที่มิสทีนเข้าทำตลาดในจีนอย่างจริงจัง ทำให้ยอดขายในปี 2562 สูงถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่ง 90% ของยอดขายมาจากการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมิสทีนสามารถทำยอดขายติดอันดับแบรนด์เครื่องสำอางที่มียอดขายสูงสุดอันดับ 7 บน TMALL เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ สินค้าเครื่องแต่งหน้าของมิสทีนก็มียอดขายเป็นอันดับ 1 แซงหน้าแบรนด์อินเตอร์หลายแบรนด์ในบางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ของจีนอีกด้วย  จนในที่สุดมิสทีนได้เปิดร้านสาขาแรกในจีนที่ Super Brand Mall ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าสัญชาติไทยในเซี่ยงไฮ้ไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561

 

ทั้งนี้ การใช้ Key Opinion Leader (KOL) หรือ การใช้บุคคลที่มีอิทธิพลในแต่ละสาขาบน social media เพื่อสื่อสารข้อมูล และเพิ่มยอดขายสินค้า ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจในการเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมาย บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เน็ตไอดอล ชื่อ หลี่ เจียฉี (Li Jiaqi) หรือที่รู้จักกันดีในนาม Lipstick Brother ซึ่งเป็นผู้ขายอันดับ 1 ของลิปสติกออนไลน์ ได้ทำการรีวิวลิปสติกแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น Douyin หรือ Tik Tok ทุบสถิติขายลิปสติกได้ 15,000 แท่งภายใน 5 นาที โดยแบรนด์ที่มียอดขายถล่มทลายในจีนเพราะเน็ตไอดอลผู้นี้ ได้แก่ (1) MAC (2) YSL (3) Charlotte Tilbury (3) Chanel และ (4) ELLISFAAS

 

ปรากฏการณ์ยอดขายถล่มทลายนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศจีนไม่เพียงแต่เป็นโรงงานผลิตสินค้าสำคัญของโลกด้วยตลาดบริโภคที่มีขนาดใหญ่กว่า 1,300 ล้านคน เท่านั้น แต่คนจีนยังเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่มีกำลังซื้อมหาศาลอีกด้วย ตลาดจีนจึงเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในทุก ๆ วงการธุรกิจ รวมทั้งตลาดความงามด้วยเช่นกัน อีกทั้ง ผู้บริโภคชาวจีนยังนิยมใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มไวเทนนิ่ง เพื่อช่วยให้ผิวขาวไม่แตกต่างจากคนไทยมากนัก ประกอบกับความชื่นชอบสินค้าที่มาจากประเทศไทย เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเมืองไทยปีละกว่า 8 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆปี เนื่องจากสินค้าไทยนั้นมีราคาที่ไม่สูงและคุณภาพดี จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบธุรกิจสุขภาพและความงามไทยที่จะขยายตลาดเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดจีน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยสนใจที่จะเข้าสู่ตลาดจีน ควรศึกษาใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อเจาะตลาด ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ (Brand Awareness) และสร้างความต้องการสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้น

 

สำหรับแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามของไทยที่สนใจขยายธุรกิจสู่ตลาดจีนนั้น อาจเริ่มต้นจากเข้าร่วมงานแฟร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาคู่ร่วมมือหรือตัวแทนกระจายสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ (1) China International Beauty Expo www.chinainternationalbeauty.com ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ปีละ 3 ครั้ง คือที่นครกว่างโจว 2 ครั้ง (เดือนมีนาคมและกันยายน) และนครเซี่ยงไฮ้ 1 ครั้ง (เดือนพฤษภาคม) (2) China Beauty Expo (CBE) www.chinabeautyexpo.com จัดที่นครเซี่ยงไฮ้ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี (3) Chengdu China Beauty Expo (CBE) www.cbebaiwen.com จัดขึ้นในเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมของทุกปีที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน

 

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562

ธุรกิจความงามไทยลุยตลาดจีน