กบง.คลอดเกณฑ์ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน

04 ธ.ค. 2562 | 10:16 น.

กบง.ไฟเขียวหลักเกณฑ์ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน 4 รูปแบบ กำหนดให้ชุมชนถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 % โดยไม่กำหนดเพดานสัดส่วนการถือหุ้น ขึ้นอยู่กับเอกชนเสนอผลประโยชน์สูงสุด และต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย ชงกพช.อุนมัติ 16 ธ.ค.นี้ ก่อนมอบให้กกพ.ออกรเบียบการจัดตั้งโรงไฟฟ้า ช่วงต้นปี 63

 

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วันนี้(4 ธ.ค.62)ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีเป้าหมายจะให้ชุมชนแต่ละแห่งเข้ามามีส่วนร่วมหรือถือหุ้นในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (vspp) แต่ละแห่งมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าหมายส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนและขายเข้าระบบได้ในปี 2565

 

สำหรับการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีอยู่ 4 รูปแบบ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ จากพืชพลังงาน โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสียหรือของเสีย) และโรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดจากการผสมผสานของเชื้อเพลิงประเภทต่างๆข้างต้น ร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งแต่ละเมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภาพรวมไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาท

กบง.คลอดเกณฑ์ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน

                                              นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

 

ทั้งนี้ แนวทางการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้านั้น  จะกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนเข้าไปถือหุ้นบุริมสิทธิในโรงไฟฟ้าไม่ตํ่ากว่า 10% ร่วมกับเอกชนทั้งหมด หรือเอกชนร่วมกับภาครัฐ โดยจะไม่กำหนดเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของชุมชนไว้ เพื่อเปิดช่องให้กับเอกชนเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนเข้ามาได้ รวมทั้งจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากเป็นในรูปแบบโรงไฟฟ้าไฮบริด จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชนแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นเชื้อพลิงหลัก 25 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนของพลังานแสดงอาทิตย์ 50 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งโรงไฟฟ้าจะต้องทำพันธสัญญาหรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ในการปลูกพืชพลังงานส่งป้อนให้โรงไฟฟ้าด้วย เป็นต้น

กบง.คลอดเกณฑ์ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน

ขณะที่ค่าไฟฟ้านั้น จะเป็นไปตามอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่ประกาศไว้เมื่อปี 2558 โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดตั้งแต่ 1-3 เมกะวัตต์ จะรับซื้อที่ 4.82 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี แต่บวกให้อีก 40 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วง 8 ปีแรก หากขนาดเกินกว่า 3 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะรับซื้อที่ 4.24 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี และบวกให้อีก 30 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วง 8 ปีแรกส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียทุกขนาด จะรับซื้อในอัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี และบวกให้อีก 50 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 8 ปีแรก รวมทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานทุกขนาด จะรับซื้อที่ 5.34 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี และบวกเพิ่มให้อีก 50 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 8 ปีแรก ส่วนโรงไฟฟ้าประเภทไฮบริดแยกเป็น 2 ราคาเช่นกัน ตามชนิดเชื้อเพลิงดังกล่าว และจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 2 บาทต่อหน่วย

กบง.คลอดเกณฑ์ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกขึ้นมา เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของเอกชนที่เสนอโครงการเข้ามา โดยจะยึดหลัก การเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนมากที่สุด ร่วมกับอัตราค่าขายไฟฟ้าที่เสนอขาย โดยหลักเกณฑ์และแนวทางการตั้งโรงไฟฟ้าชมุชนและการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพังานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 นี้ และหลังจากนั้นจะมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปออกหลักเกณฑ์ และระเบียบในการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงต้นปี 2563