กกร.จี้รัฐเร่งดันงบ-เมกะโปรเจ็กต์

04 ธ.ค. 2562 | 06:53 น.

กกร.เสนอรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หวังไตรมาส 4 ต่อเนื่องไตรมาสแรกปีหน้าปรับตัวดีขึ้น หลัง GDP ไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่คาด ขณะทั้งปี 62 คาดขยายตัวที่ 2.7-3% ส่งออกติดลบ 2 ถึง 0%   วอนรัฐบาลรักษาเสถียรภาพอย่าตีกันเพื่อแย่งซีน พร้อมเร่งผลักดันงบประมาณและเมกะโปรเจ็กต์เดินหน้า

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เผยว่าที่ประชุม(วันที่ 4 ธ.ค.62) ได้ประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563 ยังขาดแรงหนุนให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย  

กกร.จี้รัฐเร่งดันงบ-เมกะโปรเจ็กต์

 

กกร. เห็นว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลควรที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น และรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้  เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ,มาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนา การเร่งลงทุนภาครัฐ การผลักดันโครงการค้ำประกันการส่งออกให้ครอบคลุมตลาดใหม่ ๆ ของเอสเอ็มอี และรัฐบาลช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันการส่งออกให้กับเอสเอ็มอีในตลาดเป้าหมาย เป็นต้น โดยกกร.ยังคงเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปี 2562 ขยายตัวที่ 2.7-3% ส่งออกติดลบ 2 ถึง 0% ขณะที่เงินเฟ้อคาดขยายตัว 0.8-1.2%  โดยคาดว่าน่าจะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ในเดือนมกราคมปีหน้า

 “กกร.มองทิศทางเศรษฐกิจไทยขณะนี้น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว คาดว่าในปี 25​63 เศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น เพราะจะมีการพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 2563 และสามารถเบิกจ่ายขับเคลื่อนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ เห็นได้จากนักลงทุนหลายประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยมีคำขอรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) แล้ว คาดว่าจะเกิดการลงทุนและผลิตจริงในบางโรงงาน ทำให้เกิดการจ้างแรงงานในประเทศ”

กกร.จี้รัฐเร่งดันงบ-เมกะโปรเจ็กต์

 

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทของไทยต้องยอมรับว่า คงไม่มีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มองว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นภาคเอกชนคงต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด โดยสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ บริการดูแลผู้สูงอายุ โปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวผ่านธุรกิจสร้างภาพยนตร์ เป็นต้น และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เพราะหากยังปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลกระทบในระยะยาว

สำหรับนโยบายปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ​นั้น หากภาครัฐมีนโยบายการปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว​ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทันที ในทางกลับกันจะสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการนำเข้าเทคโนโลยี ​หุ่นยนต์ ​และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนแรงงานมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อแรงงานที่ไม่มีทักษะที่อาจถูกเลิกจ้าง ดังนั้นภาครัฐควรมาตรการสนับสนุนให้มีแรงงานทักษะโดยเร็ว​ และศึกษาผลกระทบในระยะยาวให้รอบด้าน

ส่วนกรณีความขัดแย้งของการเมืองนั้น เอกชนมองว่าอยากให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากกว่านี้ เพราะจะเป็นการสรางความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งอย่ามัวตีหรือแย่งซีนกัน ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณและการลงทุนในโครงการใหญ่ควรเร่งดำเนินเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ