เคล็ด (ไม่ลับ) ‘เพิ่มยอดขาย’ เทศกาลช็อปปลายปี

04 ธ.ค. 2562 | 05:51 น.

      ช่วงปลายปีถือเป็นช่วงเวลาของมหกรรมการช็อปปิ้งที่ท่วมท้นที่สุดสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 ช่วงเวลานาทีทองสำหรับการช็อปปิ้งในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญลดราคา “ซิงเกิลส์เดย์” (วันที่ 11 เดือน 11) ที่มีแบรนด์เข้าร่วมมากกว่า 200,000 แบรนด์จากกว่า 78 ประเทศ รวมเป็นยอดการซื้อขายสินค้ารวมกว่า 30.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (933.5 ล้านบาท) ภายในเวลา 5 โมงเย็นของวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง  25.7%

     ด้วยเทศกาลช็อปปิ้งปลายปีมีมากมายอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจึงควรมองหาโอกาสและยกระดับการให้บริการแบบอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดนี้ เพื่อรับมือกับการที่ผู้บริโภคเริ่มจับจ่ายซื้อของตามห้างร้านน้อยลงไปพร้อมกันด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากรายงานล่าสุดของ Facebook IQ ของ Facebook ในหัวข้อ “Facebook 2019 Holiday Study” พบว่า 70% ของคนไทยจากจำนวน 1,506 คนที่ร่วมตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาจะเริ่มช็อปปิ้งในช่วงปลายปีในเดือนธันวาคม โดย 1 ใน 4 ของคนอายุระหว่าง 18-34 ปีตอบว่า มีแผนจะใช้จ่ายในการช้อปปิ้งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

เคล็ด (ไม่ลับ) ‘เพิ่มยอดขาย’ เทศกาลช็อปปลายปี      ในทุกๆ เดือนมีคนไทยจำนวน 54 ล้านรายเข้าใช้งาน Facebook บนมือถือ และ 60% ของผู้ที่ช็อปปิ้งบน  มือถือมีอายุระหว่าง 18-34 ปี ในขณะเดียวกัน Instagram มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านรายต่อเดือนทั่วโลก (กว่า 80% เป็นผู้ใช้งานพำนักอยู่นอกสหรัฐอเมริกา) สำหรับในประเทศไทยมีอัตราการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสนใจในเนื้อหาด้านความงามและแฟชั่นมากที่สุด

     แม้ว่าจะมีเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการช็อปปิ้งในช่วงสิ้นปีในประเทศไทยยังคงเป็นการช็อปปิ้งที่ร้านค้าแบบดั้งเดิม ข้อมูลจาก Holiday Insights ของ Facebook IQ ปี 2019 แสดงให้เห็นว่าจำนวนคนที่ช็อปปิ้งในร้านค้าแบบดั้งเดิมในปี 2561 ลดลงจากปี 2560 ถึง 11%  โดยนอกจากมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้      อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับการช็อปปิ้งได้จากที่บ้านอีกด้วย    ยิ่งไปกว่านั้น โทรศัพท์มือถือยังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนสามารถพบกับข้อเสนอและไอเดียต่างๆ ในการซื้อของ จากการศึกษาพบว่า 81% ของนักชอปชาวไทยยังคงใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการหาซื้อของขวัญในร้านค้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วคิดเป็น 4% โดยในกลุ่มนี้ 69% ใช้มือถือในการเปรียบเทียบราคา 58% เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ และ 47% มองหาคูปองหรือส่วนลด

     ร้านค้าและแบรนด์ต่างๆ มีทางเลือกหลากหลายในการสร้างการเข้าถึงผู้บริโภคตลอดช่วงเทศกาลลดราคาปลายปี ด้วยบริการแอพต่างๆ ของ Facebook ไม่ว่าผู้บริโภคจะอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจช่วงใดก็ตาม นางสาวชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม Facebook ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “ในประเทศไทยนั้น มือถือมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคได้ค้นพบและรู้จักแบรนด์ใหม่ๆ โดย 61% ของคนที่ใช้มือถือในการหาข้อมูลก่อนซื้อบอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการใช้ค้นหาร้านค้าใกล้เคียงที่มีผลิตภัณฑ์และข้อเสนอดีๆ ให้เลือกช็อป”

 “นอกจากนี้ เรายังพบว่า 39% ของผู้บริโภคค้นพบแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่จากการดูวิดีโอบนมือถือ” อ้างอิงผลจากการศึกษาในปี 2560 ที่ Facebook มอบหมายให้ Nielsen เป็นผู้ดำเนินการสำรวจในหัวข้อ “คุณค่าของวิดีโอ” จากกลุ่มสำรวจจำนวน 22,000 รายซึ่งมีอายุระหว่าง 18-24 ปีจาก 10 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

      ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเตรียมพร้อมรับความตื่นเต้นในช่วงเทศกาลลดราคาปลายปี ประสบการณ์บน   มือถือก็มีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้ตรงความต้องการของผู้ใช้ให้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา สำหรับใน Facebook และ Instagram นั้น ครอบครัวและกลุ่มเพื่อนของผู้ใช้งานถือเป็นหัวใจหลักของประสบการณ์ออนไลน์ของพวกเขา ผู้ใช้เหล่านี้เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสด้วยการส่งคำอวยพรและบันทึกภาพประสบการณ์ของตนเองส่งให้กันและกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาชอบดูวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว ที่ทำให้เกิดไอเดียในการเลือกซื้อของขวัญ หรือทำให้มีอารมณ์ร่วมไปกับเทศกาลวันหยุด

     ปฏิสัมพันธ์ออนไลน์เหล่านี้ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างร้านค้าและผู้บริโภค การส่งข้อความกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการกดซื้อ โดย 9 ใน 10 คนของผู้ที่ชอบช็อปปิ้งในช่วงสิ้นปีกล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อของจากร้านค้าที่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ทันทีผ่านบริการส่งข้อความมากกว่า

     ร้านค้าต่างๆ มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีความหมายมากขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ จากข้อมูลพบว่า  80% ของผู้ใช้ Instagram ติดตามร้านค้าอย่างน้อยหนึ่งร้าน ขณะที่ 84% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าตนส่งข้อความพูดคุยกับร้านค้าต่างๆ ในช่วงปลายปี 2561 เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ รวมถึงเพื่อติดตามคำสั่งซื้อ หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ 

       นอกจากราคาและบริการจัดส่งฟรีที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจซื้อของแล้วนั้น ร้านค้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กก็สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือการส่งข้อความเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค หรือ ตั้งระบบตอบกลับอัตโนมัติที่สามารถช่วยในการเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ได้ด้วย เนื่องจากอัตราการช็อปปิ้ง  มักเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนถึงวันหยุดเทศกาล

ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญในการสร้างการเข้าถึงลูกค้าและกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาล

•    ใช้ประโยชน์จากเทศกาลช็อปปิ้งที่ยาวนาน: นักช็อปส่วนใหญ่จะไม่ซื้อของจนกว่าจะถึงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม โดยครึ่งหนึ่งจากจำนวนนี้บอกว่าจะรอช็อปในเดือนมกราคมด้วย เพื่อซื้อของใหม่ๆ สำหรับเป็นของขวัญปีใหม่รวมถึงรอส่วนลดเพิ่มเติมหลังเทศกาลวันหยุดจบไปแล้ว นับว่าความสนใจของผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปี ร้านค้าจึงควรออก  กลยุทธ์ในช่วงใกล้ๆ วันที่มีการช็อปปิ้งสูงสุดและเลือกแผนการซื้อสื่อโฆษณาแบบ always-on

•    มุ่งเน้นไปที่การค้นพบและการส่งข้อความ: เนื่องจากมือถือมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ลูกค้าค้นพบข้อเสนอและไอเดียการช็อปปิ้ง เพื่อเพิ่มโอกาสให้แบรนด์ขายของได้มากขึ้น การออกแบบแคมเปญสำหรับลูกค้าที่ใช้มือถือเป็นหลักจึงควรใช้คลิปวิดีโอแบบสั้นเพื่อดึงความสนใจของลูกค้าตั้งแต่เนิ่นๆ โดยใส่โฆษณาที่มีแบรนด์ปรากฏ และใช้แพลตฟอร์มการส่งข้อความอย่าง Messenger เพื่อสอดแทรกรายละเอียดเนื้อหาได้มากขึ้นในช่วงเทศกาล

•    ทำให้แบรนด์เป็นที่สังเกตและโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่นๆ: เน้นข้อเสนอส่วนลดหรือสิ่งจูงใจให้เห็นชัดเจนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เนื่องจากราคายังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อของนอกเหนือจากการจัดส่งฟรีสำหรับลูกค้าที่ซื้อของในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเสื้อผ้า และการบริการจัดส่งในวันถัดไปสำหรับลูกค้าที่ซื้อของใช้อุปโภคบริโภคต่างๆ อย่ากลัวที่จะใช้รูปแบบการโฆษณาที่แตกต่างกันเนื่องจากวิดีโอที่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวหรือโชว์ผลิตภัณฑ์ให้เห็นชัดเจน มักเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวไทย

•    ตอบสนองความคาดหวังที่สูงของลูกค้าให้ได้: ความคาดหวังของลูกค้าพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ โดยลูกค้า 1 ใน 3 รายทั่วโลกจะหยุดซื้อของจากแบรนด์ที่ตัวเองชื่นชอบทันทีที่เจอประสบการณ์ไม่ดีเพียงครั้งเดียว หมายความว่าลูกค้าคาดหวังว่าร้านค้าต่างๆ จะมอบประสบการณ์ช็อปปิ้งที่ราบรื่นให้พวกเขา ร้านค้าต่างๆ จึงต้องทำให้แน่ใจว่าจะสร้างประสบการณ์ที่สะดวกและไร้รอยต่อตั้งแต่นาทีที่ลูกค้าเริ่มรู้จักแบรนด์ไปจนถึงขั้นตอนการซื้อ