สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (36)

01 ธ.ค. 2562 | 08:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3527 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-4 ธ.ค.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล (36)

 

     นำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

     กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี

     สัญญาที่จะลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามร่างสัญญากันในเรื่องสัญญา ข้อ 16.2 การดำเนินกิจการทางพาณิชย์

     (1) ขอบเขตการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ คู่สัญญาตกลงให้ขอบเขตการดำเนินกิจการทางพาณิชย์เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4.1(5)

     (2) สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในการดำเนินกิจการพาณิชย์ (ก) สิทธิและหน้าที่ของ รฟท.

     1) รฟท.หรือผู้แทนของ รฟท.มีสิทธิเข้าไปตรวจพื้นที่ของโครงการฯ ที่ใช้ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ได้ในเวลาทำการปกติของเอกชนคู่สัญญาโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าสำหรับนอกเวลาทำการปกติ (รวมเวลากลางคืน) นั้น ให้ รฟท.หรือผู้แทนของ รฟท.เข้าไปตรวจได้ทันทีในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน โดยต้องแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาทราบก่อน และเอกชนคู่สัญญาต้องอำนวยความสะดวกแก่ รฟท.หรือผู้แทนของ รฟท.ในการเข้าตรวจพื้นที่ของโครงการฯ ที่ใช้ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์

     2) ในกรณี รฟท.เห็นว่าเอกชนคู่สัญญาจะดำเนินการลักษณะใดๆ ที่ผิดกฎหมายไทยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือน่ารังเกียจ น่ากลัว หรืออาจกระทบกระเทือนความปลอดภัยและความสงบหรือเป็นอันตรายต่อสาธารณะ รฟท.มีสิทธิแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาดำเนินการรื้อถอน หยุด หรือละเว้นการกระทำดังกล่าวได้โดยหากเอกชนคู่สัญญาไม่ดำเนินการตามที่ รฟท.แจ้งภายในระยะเวลาที่ รฟท.กำหนด รฟท.มีสิทธิและเอกชนคู่สัญญาตกลงยินยอมให้ รฟท.กำหนดให้บุคคลอื่นเข้ามาดำเนินการรื้อถอนหรือหยุดการกระทำนั้น โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิของ รฟท.

 

     (ข) สิทธิและหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญา

     1) เอกชนคู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานและการดำเนินการของเอกชนคู่สัญญา ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันและจะใช้บังคับในอนาคตโดยเคร่งครัด โดยเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากปรากฏว่า รฟท.ต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่เอกชนคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย เอกชนคู่สัญญาจะชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ รฟท.ทั้งสิ้นโดยไม่ชักช้า

     2) การกระทำใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใดๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากผู้เช่าช่วง ผู้ใช้ประโยชน์ ผู้ค้า หรือบริวาร เอกชนคู่สัญญายังคงต้องรับผิดทั้งสิ้น

     3) เอกชนคู่สัญญาจะไม่ใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ในลักษณะใดๆ ที่ผิดกฎหมายไทยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือน่ารังเกียจ น่ากลัว หรืออาจกระทบกระเทือนความปลอดภัยและความสงบหรือเป็นอันตรายต่อสาธารณะ และจะไม่นำหรือไม่ยินยอมให้บุคคลใดๆ นำวัตถุที่เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นอันตรายนอกเหนือจากความจำเป็นและประกอบการโดยปกติมาเก็บไว้ในการดำเนินกิจการพาณิชย์ รวมทั้งจะไม่กระทำหรือไม่ยอมให้ผู้อื่นกระทำการใดๆ เหลื่อมลํ้าออกมาบนทางเท้า หรือถนน อันเป็นการกีดขวางการจราจร

     4) ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ เอกชนคู่สัญญาจะระมัดระวังมิให้การดำเนินงานข้างต้นส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นหรือการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ

     5) เอกชนคู่สัญญา มีหน้าที่ส่งแผนแสดงการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ให้ รฟท.เป็นรายปี เพื่อให้ รฟท.พิจารณาอนุมัติ ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องระบุประเภทของกิจกรรมในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องส่งมอบแผนแสดงการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ในปีแรกให้ รฟท.ก่อนการเริ่มต้นการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ และหากมีการเปลี่ยนแปลงแผนแสดงการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ให้เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อให้ รฟท.พิจารณาอนุมัติ

     6) กรณีที่มีการก่อสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารอื่นๆ กับสถานีรถไฟของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญาจะต้องนำส่งแผนงานรายละเอียดรวมทั้งแบบการก่อสร้าง (ถ้ามี) ให้แก่ รฟท.และหน่วยงานของรัฐ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนเริ่มดำเนินการ

 

     17.  การเปลี่ยนแปลงงาน 17.1 การเปลี่ยนแปลงงาน โดย รฟท. (1) กรณีการเปลี่ยนแปลงงานโดยทั่วไป

     (ก) การออกคำสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงงาน ตลอดระยะเวลาของโครงการฯ รฟท.อาจแจ้งความประสงค์ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงงานโดยแจ้งไปยังเอกชนคู่สัญญาโดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงงานตามข้อ 17.1(1)(ข) เว้นแต่เอกชนคู่สัญญาจะได้พิจารณาโดยสุจริตแล้วและแจ้งไปยัง รฟท.พร้อมรายละเอียดและหลักฐานว่า

     1) เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถหาวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อดำเนินการตามการเปลี่ยนแปลงนั้น

     2) การเปลี่ยนแปลงงานจะทำให้ความปลอดภัยลดลงหรือลดประสิทธิภาพของการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

     3) การเปลี่ยนแปลงงานจะส่งผลเสียต่อข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ

     4) การเปลี่ยนแปลงงานเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายไทย เมื่อได้รับการบอกกล่าวข้างต้นจากเอกชนคู่สัญญา รฟท.อาจพิจารณายกเลิก ยืนยัน หรือเปลี่ยนแปลงการแจ้งให้มีการเปลี่ยนแปลงงานเป็นอย่างใดก็ได้ ตามที่พิจารณาเห็นว่าเป็นการถูกต้องสมควร ซึ่ง รฟท.จะแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

     (ข) การดำเนินการตามคำสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงงาน ภายใต้ข้อ 17.1(ก)(1) เอกชนคู่สัญญาจะให้การยืนยันโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการยื่นรายละเอียดดังต่อไปนี้

     1) รายละเอียดของแบบที่เสนอ และ/หรือ งานที่จะต้องทำ และแผนการทำงาน

     2) ข้อเสนอของเอกชนคู่สัญญา เพื่อการแก้ไขแผนการดำเนินงานและระยะเวลาทำงานแล้วเสร็จตามแผน และ

     3) ข้อเสนอของเอกชนคู่สัญญา เพื่อขอให้มีการปรับค่าใช้จ่าย ค่าอุปกรณ์งานระบบและซ่อมบำรุงรักษาตามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อได้รับข้อเสนอแล้ว รฟท.จะแจ้งเป็นหนังสือโดยการอนุมัติ ไม่อนุมัติ หรือเสนอความเห็นแก่เอกชนคู่สัญญาโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้เอกชนคู่สัญญาจะไม่หยุดการทำงานใดๆ ตามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรอคำตอบจาก รฟท.

     (2) กรณีการเปลี่ยนแปลงงานเพื่อปรับปรุงระบบรถไฟ กรณีที่ รฟท.ต้องการให้มีการเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ หรือปรับปรุงระบบรถไฟในระยะเวลางานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้มีประสิทธิภาพต่อการให้บริการเดินรถ รฟท.จะทำเป็นคำสั่งแจ้งการเปลี่ยนแปลงงานไปยังเอกชนคู่สัญญาก็ได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงงาน ตามข้อนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงงานที่ทำให้ค่าใช้จ่าย ค่าอุปกรณ์งานระบบและซ่อมแซมบำรุงตามสัญญาร่วมลงทุนเพิ่มขึ้น หรือเป็นการเพิ่มจำนวนรถไฟเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาของสัญญานี้

     (3) กรณีการเปลี่ยนแปลงงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ กรณีที่ รฟท.ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะตามข้อ 29 ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงงาน รฟท.มีสิทธิใช้อำนาจสั่งให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้การให้บริการเดินรถสามารถดำเนินการได้ตามปกติ และเอกชนคู่สัญญาตกลงที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ตามที่มีการแก้ไขงานนั้น รวมถึงกรณีที่จะต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเอกชนคู่สัญญาจะให้ความร่วมมือในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมลงทุนตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 39.2

     อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ ขอบอกว่าเราต้องอ่านสัญญาดี

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (35)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (34)

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (33)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (32)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (31)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (30)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (29)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (28)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (27)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (26)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (25)