ผู้ค้าสารเคมีตีปีก โละ3หมื่นตัน เกษตรกรแห่ตุน

01 ธ.ค. 2562 | 23:10 น.

เลื่อนแบน 2 สารเข้าทางผู้ค้าโละสต๊อก 3 หมื่นตันใน 6 เดือน จับตาเกษตรกรแห่ซื้อตุน ไบโอไทยชี้เลิกแบนไกลโฟเซต เพิ่มโอกาสยักษ์ “ไบเออร์-มอนซานโต้” บุกตลาดพืชจีเอ็มโอในไทย รง.อาหารสัตว์-อาหารคนโล่งอก ผลกระทบอุตฯ 1.7 ล้านล้านบาทคลี่คลาย

 

ผลประชุมคณะกรรม การวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 มีมติให้แบนการใช้ 2 สารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จากคณะกรรมการฯชุดก่อนหน้า มีมติให้แบนทั้ง 3 สาร(พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต)ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ส่วนไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ ซึ่งหมายถึงการยกเลิกแบนนั่นเอง มติครั้งนี้แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนการแบน แต่เบื้องหน้าอีก 6 เดือนนับจากนี้ ยังมีประเด็นต่างๆ ที่จะเกิดอีกมากมายจากภาคส่วนที่มีส่วนได้-เสีย

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนา และเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มติครั้งนี้ผลประโยชน์จะตกกับใครบ้างนั้นไม่ขอวิจารณ์ แต่จากปริมาณทั้ง 3 สารคงเหลือทราบว่ามีประมาณ 3 หมื่นตัน คาดขายไม่ถึง 1 ปีก็หมด ในส่วนของ 2 สารที่จะถูกแบนในอีก 6 เดือนข้างหน้า เวลานี้รัฐบาลยังไม่สามารถหาสารทดแทนที่มีราคาถูกกว่า มีคุณภาพที่ดีกว่า หรือใกล้เคียงกันมาเป็นทางเลือก อาจมีส่วนทำให้เกษตรกรเร่งซื้อทั้ง 2 สารเพื่อตุนไว้ใช้ก่อนยกเลิก

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า การเลื่อนแบน 2 สารและยกเลิกแบน 1 สาร คนเสียประโยชน์คือเกษตรกร และผู้บริโภคที่ต้องรับความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อไป ในเชิงธุรกิจ 6 เดือนนับจากนี้หากยังไม่มีสารชีวภัณฑ์ที่ปลอดภัยทดแทน จะเป็นโอกาสของบริษัทและผู้ค้า 3 สารในการระบายสต๊อกสินค้าจนหมด โดยไม่ต้องส่งออกไปประเทศต้นทางหรือประเทศที่ 3 เพราะถือเป็นปริมาณสต๊อกเพียง 1 ใน 3 จากที่นำเข้ารวมกันในแต่ละปีประมาณ 1 แสนตัน

ผู้ค้าสารเคมีตีปีก  โละ3หมื่นตัน  เกษตรกรแห่ตุน

“ที่น่าจับตาคือยอดขายสารไกลโฟเซต (ยาฆ่าหญ้า) ที่ไม่ถูกแบนอาจมียอดขายเพิ่มขึ้น รวมถึงกลูโฟซิเนตซึ่งเป็นหนึ่งในสารทดแทนอาจมียอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าตรวจสอบว่ามีกลุ่มทุนนักการเมืองบางพรรคได้ผลประโยชน์จากมติในครั้งนี้ตามที่เป็นข่าวจริงหรือไม่ ขณะมติครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ไบเออร์-มอนซานโต้ ที่ผูกขาดสิทธิบัตรพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอของโลก 80-90% เพราะการที่ไทยไม่แบนไกลโฟเซตจะเอื้อให้บริษัทได้ประโยชน์เพราะพืชจีเอ็มโอถูกออกแบบมาเพื่อต้านทานสารไกลโฟเซต หากประเทศไทยเปิดช่องก็จะเป็นโอกาสพืชจีเอ็มโอของบริษัทเข้ามาปลูกในไทยในอนาคต ซึ่งเขาจะได้ประโยชน์มหาศาลจากการขายพันธุ์พืชจีเอ็มโอ”

ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นพ้องกันว่า การยกเลิกการแบนไกลโฟเซต ทำให้ความกังวลการขาดแคลนวัตถุดิบจากการนำเข้าของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องคลี่คลายลงระดับหนึ่ง จากวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตและแปรรูปส่วนใหญ่ ทั้งถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ กากข้าวโพด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่นำเข้ารวมกันประมาณปีละ 10 ล้านตัน ส่วนใหญ่มีการใช้สารไกลโฟเซตในการเพาะปลูกจากประเทศต้นทาง ทั้งบราซิล อาร์เจนตินา สหรัฐฯ ยูเครน แคนาดา และออสเตรเลีย

ดังนั้น ผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานที่คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1.7 ล้านล้านบาทก่อนหน้านี้ จะไม่สามารถจัดหาหรือนำเข้าจากแหล่งวัตถุดิบที่สารตกค้างเป็น 0 ได้เพียงพอ นับจากนี้ถือว่าเบาใจได้ระดับหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง หากมีการแบนพาราควอต (ยาฆ่าหญ้า) และคลอร์ไพริฟอส (ยาฆ่าแมลง) ในอีก 6 เดือนข้างหน้า และยังไม่มีสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า หรือใกล้เคียงผลผลิตของเกษตรกรอาจลดลง และกระทบวัตถุดิบป้อนโรงงานได้ เรื่องนี้ผู้ประกอบการคงต้องเข้าไปร่วมมือกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562