รื้อเกณฑ์โรงไฟฟ้า เอื้อ‘ชุมชน’สูงสุด

02 ธ.ค. 2562 | 06:20 น.

ถกร่างหลักเกณฑ์ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ยังไม่ได้ข้อยุติ เปลี่ยนจากประมูลเป็นให้เอกชนยื่นผลประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน ชง กบง.ตั้งคณะกรรมการพิจารณา เปิดกว้างชุมชนถือหุ้นไม่ตํ่ากว่า 10% 


ยังไม่ได้ข้อยุติสำหรับหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงพลังงาน กำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้ โดยการประชุมของคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงเป็นประธาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถคลอดร่างหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวได้ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกโครงการจากเดิมให้แต่ละโรงไฟฟ้ายื่นแข่งขันเสนอราคาค่าไฟฟ้า เปลี่ยนมาเป็นการยื่นเสนอผลประโยชน์ให้กับชุมชนสูงสุดแทน ซึ่งจะต้องมีการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2562 พิจารณาจัดตั้งขึ้นมา

 

คลอดโรงไฟฟ้า4รูปแบบ

ทั้งนี้ การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมายที่จะให้ชุมชนแต่ละแห่งเข้ามาเป็นมีส่วนร่วมหรือถือหุ้นในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (vspp) แต่ละแห่งมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าหมายส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนและขายเข้าระบบได้ในปี 2565 ขณะที่โครงการประเภท Quick Win จะสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 6 เดือนหลังจากคัดเลือกโครงการที่มีการเสนอเข้ามา

สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีอยู่ 4 รูปแบบ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ จากพืชพลังงาน โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสียหรือของเสีย) และโรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดจากการผสมผสานของเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ รวมทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย ซึ่งแต่ละเมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภาพรวมไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาท

 

ล้มรูปแบบการประมูล

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ยังไม่ได้ข้อยุติหลักเกณฑ์และแนวทางในการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะติดปัญหาแนวทางการคัดเลือกโครงการที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่จากเดิมในรูปแบบประมูลอัตราค่าไฟฟ้า มาเป็นการเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนแทน ซึ่งจะต้องเสนอให้กบง.พิจารณาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในส่วนนี้

ประกอบกับการพิจารณาปริมาณรับซื้อไฟฟ้าที่ตั้งเป้าไว้ 1 พันเมกะวัตต์ ยังไม่สามารถแบ่งสัดส่วนว่าจะมาจากโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงประเภทใดบ้าง จะเสนอให้กบง.เป็นผู้พิจารณาด้วย และเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2562 และคาดว่าหลักเกณฑ์และแนวทางในการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน น่าจะได้ข้อยุติทั้งหมดภายในเดือนมกราคม 2563

รื้อเกณฑ์โรงไฟฟ้า  เอื้อ‘ชุมชน’สูงสุด

ชุมชนถือหุ้นไม่ตํ่ากว่า10%

อย่างไรก็ตาม ในหลักเกณฑ์เบื้องต้นนั้น จะกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนเข้าไปถือหุ้นบุริมสิทธิในโรงไฟฟ้าไม่ตํ่ากว่า 10% ร่วมกับเอกชนทั้งหมด หรือเอกชนร่วมกับภาครัฐ โดยจะไม่กำหนดเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของชุมชนไว้ เพื่อเปิดช่องให้กับเอกชนเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนเข้ามาได้ รวมทั้งจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งโรงไฟฟ้าจะต้องทำพันธสัญญาหรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ในการปลูกพืชพลังงานส่งป้อนให้โรงไฟฟ้าด้วย เป็นต้น

ขณะที่ค่าไฟฟ้านั้น จะเป็นไปตามอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่ประกาศไว้เมื่อปี 2558 โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดตั้งแต่ 1-3 เมกะวัตต์ จะรับซื้อที่ 4.82 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี แต่บวกให้อีก 40 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วง 8 ปีแรก หากขนาดเกินกว่า 3 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะรับซื้อที่ 4.24 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี และบวกให้อีก 30 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วง 8 ปีแรก

ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียทุกขนาด จะรับซื้อในอัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี และบวกให้อีก 50 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 8 ปีแรก รวมทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานทุกขนาด จะรับซื้อที่ 5.34 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี และบวกเพิ่มให้อีก 50 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 8 ปีแรก ส่วนโรงไฟฟ้าประเภทไฮบริดอยู่ระหว่างการพิจารณาราคารับซื้อ

 

ปี63รับซื้อไฟ 700 MW

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ ต้องการให้โรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2563 จึงตั้งเป้าหมายที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ปริมาณ 700 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะการเร่งให้โครงการ Quick Win ที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ จะเกิดขึ้นได้ก่อน ที่คาดว่าจะมีเสนอเข้ามาไม่ต่ำกว่า 20 เมกะวัตต์ ส่วนอีกปริมาณ 300 เมกะวัตต์ จะประกาศรับซื้อในปี 2564 และจ่ายเข้าระบบได้ในปี 2565

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562