“สมบัติ อุทัยสาง”เฮ ศาลฎีกายกคำร้องยึดทรัพย์ 108 ล้าน

29 พ.ย. 2562 | 09:55 น.


ศาลฎีกายกคำร้องคำขอให้ทรัพย์ “สมบัติ อุทัยสาง” อดีต รมช.มหาดไทย ตกเป็นของแผ่นดิน กว่า 108 ล้านบาท เหตุระยะเวลาพ้นอำนาจไต่สวน ป.ป.ช.

 วันนี้ (29 มี.ค.62 ) ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำที่ อม. 209/ 2561 หมายเลขแดงที่ อม.258 / 2562 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สิน นายสมบัติ อุทัยสาง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1  นางสุจิวรรณ อุทัยสาง กับพวก รวม 4 คน ผู้คัดค้าน ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน   

โดยศาลฎีกาฯ  วินิจฉัยในสาระสำคัญ ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552  โดยมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติ ดังกล่าวกำหนดว่ากรณีที่จะมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกตินั้น จะต้องมีการกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียก่อน  และการกล่าวหาดังกล่าวจะต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น 


คดีนี้ทรัพย์สินที่เป็นมูลเหตุของการร่ำรวยผิดปกติ  คือ เงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์ 3 บัญชี และเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์สาขาพุทธมณฑล 5 บัญชี มีการนำฝากระหว่างวันที่ 12  มี.ค.2540 -18 ต.ค.2543  อันเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ  และเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย   

แต่ระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ จนกระทั่งผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ  หรือตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปเกิน 2  ปี ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 75 แล้วเช่นนี้ย่อมมีผลทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะรับพิจารณากรณีผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้อีกต่อไป   

แม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  พ.ศ.2542    พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 26 และมาตรา 75 แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้นำ มาตรา 66  และมาตรา 75 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ล่วงพ้นกำหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะรับพิจารณาไต่สวนไปแล้วได้   จึงไม่ทำให้อำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่สิ้นสุดลงไปแล้วกลับมีอำนาจขึ้นอีก 

ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งที่ 23/ 2552 ลงวันที่ 14 มกราคม 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย   ว่าผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่ำรวยผิดปกติ  ก็เป็นกรณีที่จะต้องบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยร่ำรวยผิดปกติ  ตามที่ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยอ้างอิงตำแหน่งทั้งสองนี้   เพื่อเป็นเหตุทำให้เกิดอำนาจไต่สวนย้อนหลังไปถึงทรัพย์สินที่ได้มาเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาไต่สวนแล้วได้   ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้สั่งให้เงินฝากดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินได้พิพากษายกคำร้อง  

                                                          

 

 

สำหรับคดีนี้เมื่อช่วงปลายปี 2560  คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดนายสมบัติ อุทัยสาง กรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบของตนและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรณีเข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี รวมทั้ง 3 ตำแหน่ง เป็น 9 บัญชี

โดยไม่แสดงบัญชีเงินฝากของตนหรือคู่สมรสที่อยู่ในชื่อของบุตร หรือที่คู่สมรส มีชื่อร่วมกับบุตร เพื่อปกปิดจำนวนทรัพย์สินที่แท้จริงของตน เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย 

ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อม.8/2552 วันที่ 25 ก.ย. 2552 พิพากษาว่านายสมบัติ อุทัยสาง จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
 

 

โดยเห็นว่าเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์ รวม 5 บัญชี ในระหว่างปี 2540 – 2541 รวมเป็นเงิน 112,820,749 บาท นายสมบัติ อุทัยสาง และนางสุจิวรรณ อุทัยสาง ร่วมกันเป็นเจ้าของเงิน และมีคำพิพากษาว่านายสมบัติ อุทัยสาง จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ 


ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านายสมบัติ อุทัยสาง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่ำรวยผิดปกติ เเละฟังได้ว่าเงินฝากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์ และสาขาพุทธมณฑล ในนามของนางสุจิวรรณ อุทัยสาง คู่สมรสและบุตร 3 คน ที่นายสมบัติ อุทัยสาง ไม่ได้แสดงไว้ในการยื่นบัญชีกรณีต่างๆ

มียอดเงินฝากคงเหลือ ณ วันที่ 4 พ.ย. 2547 ซึ่งเป็นการยื่นบัญชีครั้งสุดท้ายในกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 106,291,109 บาท โดยนายสมบัติ อุทัยสาง สามารถพิสูจน์การได้มาของเงินฝากธนาคารดังกล่าวว่าได้มาโดยชอบตามวิถีทางปกติ จำนวน 15,000,000 บาท 


 เมื่อนำจำนวนเงินที่ไม่สามารถพิสูจน์การได้มาโดยชอบ จำนวน 91,291,109 บาท รวมกับดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นดอกผลทางนิตินัยของเงินฝากดังกล่าวอีกจำนวน 17,283,247 บาท มารวมคำนวณแล้ว เห็นว่า นายสมบัติ อุทัยสาง มีทรัพย์สินที่ไม่สามารถพิสูจน์การได้มาโดยชอบ รวมมูลค่า 108,574,356 บาท


จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินรายการเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในนามของนางสุจิวรรณ อุทัยสาง คู่สมรส และบุตร 3 คน ที่สาขาคอนแวนต์ และสาขาพุทธมณฑล เป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน