ทุ่มแสนล้านเร่งเปิดใช้ 5 มอเตอร์เวย์รถไฟชายแดน

02 ธ.ค. 2562 | 23:30 น.

 

ยังคงเดินหน้าขยายเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงไปยัง ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระจายความเจริญให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันตามนโยบายรัฐบาลประยุทธ์เพิ่มโครงข่าย เชื่อมไทยเชื่อมโลก

ทั้งนี้โครงการขนาดใหญ่ ที่น่าสนใจ ไล่ตั้งแต่ มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร งบประมาณ 59,400 ล้านบาท เชื่อมโครงข่ายสายอีสาน มีความคืบหน้าก่อสร้างงานโยธา กว่า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2563 จะทดลองให้ประชาชนใช้เส้นทางบางส่วน ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบพร้อมด่านเก็บเงิน ในปี 2565 โดย มีกลุ่ม บีทีเอส ดำเนินงานและบำรุงรักษาในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ค่าบริการกิโลเมตรละ 1.25 บาท หรือ ตลอดสายเพียง 235 บาท ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเศษๆ

มาที่ ความคืบหน้า มอเตอร์ เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เชื่อมการเดินทางไปยังฝั่งตะวันตก ระยะทาง 96 กิโลเมตร งบประมาณ 43,700 ล้านบาท คาดว่า ภายในเดือนธันวาคม นี้จะเริ่มจ่ายชดเชย ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่เหลือได้ทั้งหมด คาดว่าเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ปี 2566 ราคาค่าผ่านทาง กิโลเมตรละ 1.25 บาท เท่ากับสายบางปะอิน-โคราช


 

 

ด้านมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กิโลเมตร งบประมาณ 63,998 ล้านบาท แม้วันนี้ยังติดปัญหา คัดค้าน แต่กรมทางหลวงยืนยัน ว่าปี 2563 เริ่ม เวนคืน แยกเป็นที่ดิน 3,416 แปลง วงเงิน 16,000 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง 1,700 หลัง 1,361 ล้านบาท และต้นไม้ 735 ต้น 611 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 4 ปี

ขณะมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง โดยจะเปิดให้บริการ เดือนเมษายน 2563 และมอเตอร์เวย์ หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย ระยะทาง 20 กิโลเมตร 37,399 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน PPP

ทุ่มแสนล้านเร่งเปิดใช้  5 มอเตอร์เวย์รถไฟชายแดน

นอกจากนี้ ระบบราง ที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออก ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 202 กิโลเมตร จำนวน 18 สถานี ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับ 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง และกระจายสินค้าไปยังทุกภูมิภาคอาเซียน ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังมาบตาพุดประมาณ 2 ชั่วโมง คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 2.3 ล้านคนต่อปี ในปีเปิดให้บริการ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.9 ล้านคนต่อปีในปี 2598 และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการขนส่งสินค้า 83 ล้านตันต่อปี ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 250 ล้านตันต่อปี ในปี 2598

 

ส่วน รถไฟเชื่อมเมืองชายแดน มีแผนก่อสร้างบริเวณจุดเชื่อมต่อ บริเวณชายแดน อย่างเส้นทางไทย-กัมพูชา ที่อรัญประเทศ-ปอยเปต อีกเส้นทาง สายกัมพูชา-เวียดนาม การเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟ (บริเวณชายแดน) ไทย-กัมพูชา จุดเชื่อมจะอยู่ที่อรัญประเทศ/ปอยเปต กัมพูชา-เวียดนาม จุดเชื่อมจะอยู่ที่ Trapeang Sre/Hoa Lu

ขณะไทย-ลาว จุดเชื่อมจะอยู่ที่หนองคาย-เวียงจันทน์ เส้นทางฝั่งสปป.ลาว-เวียดนาม จุดเชื่อมจะอยู่ที่เวียงจันทน์-ท่าแขก-บูยา-วุงอัง หรือสะหวันนะเขต-ดองฮา ส่วนเส้นทาง ไทย-พม่า จุดเชื่อมจะอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์

จีน-เมียนมา จุดเชื่อมจะอยู่ที่ Ruili/Muse ซึ่งจีนได้เสนอให้เชื่อมเส้นทางอื่น จากต้าลั่วไปเชียงรายผ่านภาคตะวันออกของพม่าด้วย จีน-ลาว จุดเชื่อมจะอยู่ที่บ่อหาน/บ่อเตน เป็นต้น

อนาคตการเดินทางจะสะดวก มีทางเลือกมากขึ้น จาก นโยบายพัฒนาพื้นที่ไทย เชื่อมไทยก้าวไกลเชื่อมโลก

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562

ทุ่มแสนล้านเร่งเปิดใช้  5 มอเตอร์เวย์รถไฟชายแดน