ขยะอีอีซีวิกฤติหนัก เร่งตั้งโรงไฟฟ้าแทนฝังกลบ

30 พ.ย. 2562 | 09:25 น.

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) .. 2561-2564 โดยให้เริ่มดำเนินโครงการเร่งด่วน 14 โครงการใช้งบประมาณ 4,342 ล้านบาท และรัฐร่วมทุนเอกชน PPP อีก 4,273 ล้านบาท เป็นโครงการด้านการจัดขยะ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย Cluster 2 (.บางละมุง และ .สัตหีบ) 3,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย เกาะล้าน 200 ล้านบาท เพื่อเร่งจัดการมลพิษที่เป็นปัญหาสะสมในพื้นที่ ทั้งขยะและนํ้าเสีย

ขยะสะสม 5.57 ล้านตัน                       

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เห็นว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในอีอีซี กำลังเป็นปัญหาหนัก เพราะการจัดการขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกหลักวิชาการราว 40% หรือประมาณ 1,700 ตันต่อวัน ของขยะทั้งหมด 4,268 ตันต่อวัน ยังตกค้างในสถานที่กำจัดจำนวนมาก และมีปริมาณขยะสะสมรวม 3 จังหวัด กว่า 5,574,923 ตัน

มีการประมาณว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี จะมีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 2% ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในทุกๆ 10 ปี จนถึงปี 2580 จะมีปริมาณขยะ 6,827 ตันต่อวัน และ ต้องเตรียมพื้นที่ฝังกลบเพิ่มประมาณ 2,000 ไร่ ใน 20 ปีข้างหน้า

ขยะอีอีซีวิกฤติหนัก  เร่งตั้งโรงไฟฟ้าแทนฝังกลบ


 

พื้นที่ฝังกลบมีจำกัด

ทั้งนี้พบว่าขยะในฉะเชิงเทรากว่า 80% จะถูกกำจัดโดยวิธีฝังกลบ และ 1 ใน 3 ของปริมาณขยะทั้งหมดอยู่นอกเขตการให้บริการและมีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง อีกทั้งด้วยสภาพพื้นที่บริเวณกว้าง มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากทำให้การบริหารจัดการขยะมีรูปแบบกระจายตัวต่างคนต่างทำ

ขณะที่ชลบุรี มีปริมาณขยะกระจุกตัวในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว การกำจัดขยะมูลฝอยมากกว่า 70% ยังคงเป็นในรูปแบบการฝังกลบ และการจัดหาพื้นที่ฝังกลบมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นจากการไม่ยอมรับของชุมชนเพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ส่วนระยองมีการกำจัดมูลฝอยด้วยการฝังกลบมากกว่า 50%

รวมถึงขยะบนเกาะสีชัง เกาะล้าน และเกาะเสม็ด ส่วนใหญ่ใช้วิธีเผาและฝังกลบ แม้จะพยายามรณรงค์คัดแยกขยะและก่อสร้างโรงคัดแยก และบีบอัดขยะใหม่ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งบนบกและในทะเลที่จะเพิ่มมากขึ้น และมีขยะสะสมประมาณเกาะละ 50,000-60,000 ตัน

ตั้งโรงไฟฟ้า6แห่งแก้ปัญหา

ทางออกของปัญหาในการจัดหาพื้นที่ฝังกลบและการกำจัดอย่างถูกวิธีนั้น ทางสกพอ.กำลังจะผลักดันให้การกำจัดขยะรูปแบบใหม่มาใช้ โดยจะนำโรงงานผลิตไฟฟ้า RDF ขนาด 10 เมกะวัตต์ กำจัดได้ 500 ตันต่อวัน (ศูนย์คัดแยกขยะมูลฝอยผลิตเป็น RDF โครงการ Biogas และโรงไฟฟ้า RDF) ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด มหาชน (GPSC) ในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จังหวัดระยอง ใช้งบลงทุนประมาณ 2,350 ล้านบาทที่อยู่ระหว่างดำเนินก่อสร้าง และจะเปิดใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2564 มาเป็นต้นแบบในการกำจัดขยะในพื้นที่อีอีซี 6 แห่ง ซึ่งจะเสนอให้กพอ.เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 นี้

ทั้งนี้ วิธีการกำจัดขยะดังกล่าว ทางสกพอ.เห็นว่า น่าจะเป็นต้นแบบนำไปขยายผลในแต่ละจังหวัดของพื้นที่อีอีซี เพราะเป็นวิธีกำจัดขยะที่ได้ประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในอนาคตได้ เพราะสามารถนำขยะกลับมาสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 480,000 หน่วยต่อวันหรือกว่า 14,400,000 หน่วยต่อเดือน สามารถจ่ายเข้าระบบไฟฟ้าเพื่อใช้งานได้กว่า 38,000 ครัวเรือน ได้อีกด้วย

หากสามารถดำเนินการตั้งโรงกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าทั้ง 6 แห่งได้จะช่วยกำจัดขยะรายวันได้ 3,774 ตันต่อวัน กำจัดขยะสะสม 2,250 ตันต่อวัน และผลิตไฟฟ้าได้ 120 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนราว 2.52 หมื่นล้านบาท ในการแก้ปัญหาขยะที่ล้นพื้นที่อยู่ในเวลานี้ได้ โดยไม่ต้องใช้พื้นที่ฝังกลบแต่อย่างใด

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562

ขยะอีอีซีวิกฤติหนัก  เร่งตั้งโรงไฟฟ้าแทนฝังกลบ