ก.อุตฯเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติ

29 พ.ย. 2562 | 03:30 น.

รมว.อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อยอดขยายผลหวังเกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุม  พร้อมเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่  

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาในงานดินเนอร์ทอล์ค “แนวหน้าฟอรั่ม” ครั้งที่ 2 “สานพลังประชารัฐ สร้างเศรษฐกิจไทย” ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ ว่า สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะต่อไป จะเดินหน้าต่อยอดขยายผลเพื่อให้เกิดการพัฒนาในมิติต่างๆ อย่างครอบคลุม รอบด้านมากขึ้น และเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่  โดยเชื่อมั่นว่าจะได้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจในแง่ของการลงทุน  โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทยอยลงนามร่วมทุน ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ฯลฯ

ก.อุตฯเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติ

ภาคอุตสาหกรรมที่ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะก้าวต่อไปได้ ต้องเกิดขึ้นภายใต้ การสานพลังประชารัฐ โดยภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจการบริหารงานของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต้องมีการทำงานร่วมกันในรูปแบบ เครือข่ายประชารัฐ  ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน

“เชื่อมั่นว่า โมเดลการพัฒนาที่ดี และการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกฝ่าย  เมื่อผนวกกับศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ทั้งในเรื่องของสิทธิประโยชน์การลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเมืองที่มีความชัดเจน ประกอบกับความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป โดยแต่ละกระทรวงพร้อมใจกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจของตนเอง ภายใต้การบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยมีนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายร่วมกัน ย่อมส่งผลให้เกิดพลังประชารัฐที่เข้มแข็ง ที่จะสามารถนำพาเศรษฐกิจไทย ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสมดุล และทั่วถึง เพื่อประเทศไทยที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน สืบไป”

นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า  สถานการณ์การแข่งขันทางการค้าและระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยจะต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่สงครามการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยจะเห็นได้จากเศรษฐกิจของจีนในปีที่แล้ว เติบโต 6.6% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 28 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงต้นปีขยายตัวเพียง 0.1%  ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี  

นอกจากสถานการณ์โลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้หลายบริษัทในหลายๆ อุตสาหกรรมปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิด Disruption ล้มละลายไป  ในภาวการณ์เช่นนี้ ทุกคนรวมถึงนักธุรกิจของไทยคงมีความกังวลว่า ทางรัฐบาลจะบริหารให้เศรษฐกิจไทยอยู่รอดและเติบโตได้อย่างไร  และทิศทางของอุตสาหกรรมไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร

                ทั้งนี้  ตนมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าทางภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สานพลังกันจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว  และทะยานขึ้นได้ในที่สุด โดยสิ่งสำคัญ คือ เราต้องพึ่งตัวเราเองให้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต จะต้องไม่ใช่เพียงการขายผลิตผลการเกษตรที่เป็น Commodities ,การรับจ้างการผลิตแบบ OEM ,การพึ่งการท่องเที่ยวแบบ Low-End รวมถึงการให้ความสำคัญกับการส่งออกเป็นหลักที่มีสัดส่วนประมาณ 70% ของ GDP แต่ละเลยการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือ Local Economy ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประเทศไทยเดินมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา  โดยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างเส้นทางใหม่ขึ้น เส้นทางที่มีปลายทางอยู่ที่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งในด้านเศรษฐกิจ หมายถึง เป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

ก.อุตฯเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติ

                1.ประเทศไทยจะต้องเติบโตก้าวข้ามกับดักรายได้ขั้นกลางให้ได้   ประเทศไทยที่ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟืออย่างในอดีต และสินค้าเดิมๆ ที่เราผลิตส่งออกอยู่ ก็เริ่มเป็นที่ต้องการน้อยลงเรื่อยๆ ในตลาดโลก ทำให้เราจำเป็นต้องก้าวไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่โลกอนาคตต้องการ ที่รู้จักกันในชื่อ อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve Industries” และการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านการสร้างนวัตกรรม การยกระดับมาตรฐาน และการยกระดับผลิตภาพ ด้วยการใช้เครื่องจักรกลและระบบ Digital อย่างทันโลก

                2.จะต้องเติบโตอย่างสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม  จะต้องเลือกทำการเกษตร การท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม และการใช้ชีวิต ในรูปแบบที่ไม่บุกรุกหรือสร้างความเสื่อมโทรมให้ทรัพยากรธรรมชาติ เลือกผลิต เลือกใช้สินค้าที่ไม่สร้างปัญหาขยะ ตามแนวคิดที่เรียกว่า BCG โมเดล หรือ Bio-Circular and Green Economy และจะต้องมีการปฏิรูปวิธีการกำกับดูแลการทำการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

และ3.จะต้องเติบโตอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค ซึ่งไม่ใช่มุ่งเน้นการพัฒนาเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจหลัก หรือ พื้นที่เมืองเท่านั้น แต่จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ รวมไปถึงการสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ผู้ประกอบการฐานราก และ Startup ได้อย่างทั่วถึง

นายสุริยะกล่าวอีกว่า จากเป้าหมาย 3 ประการดังกล่าว  กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ถอดรหัสออกมาเป็นเส้นทางอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยได้มอบนโยบายแก่หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมจากเดิมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและเทคโนโลยีอย่างง่าย ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีความต้องการในอนาคต นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงพอที่จะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี  ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ทุกสาขา ทุกระดับ และทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน รวมทั้งภาคประชาชน โดยมีผลงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการไปแล้วตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา หรือ 99 วัน อุตสาหกรรมทำได้” ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 5 เรื่องหลัก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สอดรับกับข้อเสนอของภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้ง ภาคประชาชน โดยเริ่มจาก

ก.อุตฯเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติ

                1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยการส่งเสริม Made in Thailand ภายใต้การบูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยได้ดำเนินการใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การเชิญชวนและดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย  โดยที่ผ่านมาได้นำคณะผู้แทนเยือนประเทศเวียดนาม เพื่อหารือนโยบายส่งเสริมการลงทุนของเวียดนาม จากนั้นได้นำคณะเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมระหว่างกัน ซึ่งญี่ปุ่นยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนไปสู่ภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV

                นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อหารือความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ดิจิทัล นวัตกรรม และการสนับสนุน Startup กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมเชิญชวนให้นักลงทุนจีนและฮ่องกงมาลงทุนหรือขยายการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และพื้นที่การลงทุนเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาสงครามการค้า

                2.จัดทำกรอบและแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุนเพื่อชักจูงและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมายังประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ภายใต้โครงการ “Thailand Plus Package” เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ อำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจแก่นักลงทุน และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดเตรียมและจัดหาที่ดินสำหรับนักลงทุน ซึ่งได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้ว ประมาณ 6,466 ไร่