ถอดรหัส เลิกแบน'ไกลโฟเซต'เข้าทางสหรัฐ?

27 พ.ย. 2562 | 09:20 น.


มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ที่ให้ยกเลิกการแบนสารไกลโฟเซตและเปลี่ยนมาเป็นมาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561แทน โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากปัจจุบันยังมีประเทศที่ใช้สารไกลโฟเซตอยู่ประมาณ 160 ประเทศ  มีห้ามใช้อยู่ 9 ประเทศ หากประกาศห้ามใช้ไกลโฟเซตจะทำให้ไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองกับข้าวสาลีจากประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล หรือประเทศอื่นได้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่น โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนายกสมาคมอาหารสัตว์ระบุว่าอาจจะมีสูงถึงหลายแสนล้านบาท 

ถอดรหัส เลิกแบน'ไกลโฟเซต'เข้าทางสหรัฐ?

อย่างไรก็ตามหากดูจากเหตุผลล่าสุดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้แจงเกี่ยวกับการยกเลิกแบนสารไกลโฟเชต สอดคล้องกับหนังสือที่นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ  ที่แสดงความกังวลใจกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทยห้ามการใช้ 3 สารอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการนำเข้าผลผลิตการเกษตร เช่น ถั่วเหลืองและข้าวสาลี   โดยเฉพาะสารไกลโฟเซต หนึ่งในสารเคมีการเกษตรสำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืช พร้อม เรียกร้องให้ไทยชะลอการตัดสินใจห้ามการใช้สารไกลโฟเซตออกไป 

 

 

ขณะที่นายรัส ไนซ์ลี ที่ปรึกษาทูตฝ่ายกิจการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ยังทำหนังสืออีกฉบับถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ระบุว่า ทางกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ โดยฝ่ายกิจการการเกษตรต่างประเทศและการค้า ได้ทำการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะมีต่อประเทศไทยจากกรณีการห้ามใช้สารเคมีการเกษตร 3 ชนิดที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น พบว่าการห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวและการกำหนดระดับของการตกค้างขั้นต่ำสุดที่ศูนย์จะส่งผลทำให้เกิดต้นทุนหลักๆ 3 ประการตามมา 

คือเกษตรกรไทยจะมีต้นทุนเพิ่ม 75,000-125,000 ล้านบาท (คำนวณตามราคาตลาด) จากการใช้สิ่งอื่นทดแทนสารเคมีดังกล่าวถ้าหากไม่สามารถหาสารเคมีอื่นที่เหมาะสมมาใช้ทดแทน (กลูโฟสิเนท-แอมโมเนียมมีความเป็นพิษมากกว่าไกลโฟเซต แต่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพาราควอต) เกษตรกรก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอยู่ดีจากการที่ต้องควบคุมวัชพืช ขณะที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง คาดว่าต้นทุนส่วนนี้จะสูงได้ถึง 128,000 ล้านบาท

ถอดรหัส เลิกแบน'ไกลโฟเซต'เข้าทางสหรัฐ?

 

 สุดท้ายคือสิ่งที่เป็นความกังวลใจมากที่สุดสำหรับสหรัฐฯและประเทศอื่นๆที่เป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรกับไทย  นั่นคือการค้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล องุ่น และอื่นๆที่จะต้องหยุดลงในทันที (จากการกำหนดให้ปริมาณตกค้างขั้นต่ำของสารเคมีดังกล่าวเหลือเพียง 0) ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการค้า (ในแง่ของการนำเข้าจากประเทศไทย) คิดเป็นมูลค่าสูงได้ถึง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 51,850 ล้านบาทต้นทุนเหล่านี้ยังไม่ได้คำนวณรวมไปถึงผลกระทบที่จะตามมาจากความเสียหายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตอาหารของไทย เช่นผู้ผลิตขนมอบและบะหมี่สำเร็จรูปซึ่งมีมูลค่าตลาด 40,000 ล้านบาท ที่ต้องพึ่งพาข้าวสำลีนำเข้า 100%  จึงหวังว่าไทยจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้ประกอบการพิจารณาด้วย

ถอดรหัส เลิกแบน'ไกลโฟเซต'เข้าทางสหรัฐ?