ทุนฮ่องกง ฝ่าอุตฯเหล็ก ฟื้น‘จีสตีล’

27 พ.ย. 2562 | 23:30 น.

จับตา “จี สตีล” ภายใต้กลุ่มทุนฮ่องกง SSG หลังปรับโครงสร้างลดหนี้ลงกว่า 9,277 ล้าน เดินหน้าเร่งขยายกำลังการผลิต มั่นใจปี 63 ธุรกิจเทิร์นอะราวด์ ก่อนเต็มสปีดแสนตันต่อเดือน ปี 64-65 พร้อมปรับโครงสร้างหนี้ที่เหลืออีก 9,606 ล้านบาท ยืดออกเป็น 9 ปี

จากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GSTEEL ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 บริษัทได้รับเสียงสนับสนุนในโครงการแปลงหนี้เป็นทุน ให้แก่เจ้าหนี้รวมจำนวน 8 ราย โดยมียอดหนี้รวมที่แปลงเป็นทุนจำนวนประมาณ 9,277 ล้านบาท (เงินต้น 4,195 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้าง/ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้รับการปลดหนี้ อีก 5,032 ล้านบาท) คิดเป็น 48.99% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 ที่มีจำนวน 18,833 ล้านบาท โดยการจัดสรรและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนรองรับตามโครงการแปลงหนี้ทุนจำนวน 22,078,584,468 หุ้น ราคาแปลงหนี้เป็นทุน 0.19 บาทต่อหุ้น

ต่อเรื่องนี้นางสาวสุนทรียา วงศ์ศิริกุล กรรมการบริหารบมจ. จี สตีล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ“ว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ กระบวนการจดทะเบียนเพิ่มทุนน่าจะแล้วเสร็จ ส่งผลให้งบการเงินไตรมาส 4/62 ของบริษัท ส่วนของผู้ถือหุ้นจากเดิมที่ติดลบ 3,849.94 ล้านบาท จะเป็นบวก 5,376.88 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุนลดลงเหลือ 1.79 เท่า จากที่อยู่ระดับ 4.89 เท่า จากนี้บริษัทจะยื่นขอกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใหม่ หลังจากยื่นส่งงบการเงินไตรมาส 2-3/2562 ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของตลท.ว่าจะให้กลับมาเทรดได้เมื่อไร  ( ถูก SP เมื่อวันที่ 16 พ.ค 2561 )

ส่วนหนี้ที่เหลือหลังการแปลงหนี้เป็นทุนอีก 9,606 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้คงค้างเดิม  2,200 ล้านบาท , หนี้ใหม่ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียน 2,600 ล้านบาท ,หนี้การค้าหมุนเวียนปกติ 2,500 ล้านบาท  โดยในส่วนของหนี้เดิม 2,200 ล้านบาท บริษัทจะปรับโครงสร้างหนี้ยืดระยะเวลาออกไป 9 ปี โดย 3 ปีแรกช่วงปลอดชำระเงินต้น (grace period) จะยังไม่จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่ม SSG ในฐานะเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทว่าจะกำหนดดอกเบี้ยอัตราเท่าไร ทำให้ภาระหนี้ที่เหลือไม่น่าห่วง เนื่องจากได้ยืดหนี้ออกเป็นระยะยาว ภาระดอกเบี้ยจึงตํ่าลงมาก โดยจะเริ่มจ่ายดอกเบี้ยในปีที่ 4  

ขณะเดียวกันหลังจากบริษัทได้กลับมาผลิตเมื่อต้นปีที่แล้ว จนเมื่อบริษัทจี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) ยกเลิกสัญญาจ้างผลิต จึงได้หยุดการผลิตไป 3 เดือน (ก.พ.-เม.ย. 62) จนเมื่อบริษัทได้ทุนหมุนเวียน โดยทำสัญญาเงินกู้กับ SSG จึงได้กลับมาผลิตอีกครั้ง ด้วยกำลังการผลิตเดือนละ 2-3 หมื่นตัน สิ้นปีนี้คาดจะอยู่ที่ 4 หมื่นตันต่อเดือน สำหรับแผนในปี 2563 บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 6-6.5 หมื่นตันต่อเดือน หลังจากที่ลูกค้าเก่าเริ่มกลับมามากกว่า 50% และคาดว่าไตรมาส 2 ปี 2563 จะกลับมาทั้ง 100% รวมทั้งการขยายผลิตภัณฑ์ทำถังแก๊ส ซึ่งจะสร้างรายได้ในปี 2563 เพิ่ม 5-10 %

ทั้งนี้บริษัทได้กู้เงินจากกลุ่ม SSG ทั้งสิ้น 84.10 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้การค้าหมุนเวียนดังกล่าวที่กล่าวข้างต้น โดยเป็นการกู้รอบแรก 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับกำลังการผลิตประมาณ 65,000 ตันต่อเดือน ส่วนแผน 3 ปี ในปี 2564-2565 จะขยายกำลังผลิตขึ้นมาที่ 100% หรือเป็น 1 แสนตันต่อเดือน อย่างไรก็ดีการเพิ่มกำลังการผลิตในอัตราสูงสุดแสนตันต่อเดือน บริษัทจะพิจารณาถึงกระแสเงินสดจากยอดขายที่เข้ามา และดูโอกาสที่เหมาะสม เพราะวงเงินกู้ 84 ล้านดอลลาร์ไม่เพียงพอรองรับการลงทุนเพิ่ม

ทุนฮ่องกง  ฝ่าอุตฯเหล็ก  ฟื้น‘จีสตีล’

นอกจากนี้ในปี 2564 บริษัทมีแผนจะรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้ 84.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยกู้เฉลี่ย 10% ต่อปี โดยจะยืดหนี้เป็นเวลา 5 ปี โดย 3 ปีแรกจะชำระเฉพาะดอกเบี้ย

“หลังจากที่เคลียร์หนี้ มั่นใจว่าบริษัทจะได้รับความเชื่อมั่น ลูกค้าเก่าจะกลับทั้ง 100% ในไตรมาส 2/2563 ประกอบกับการขยายฐานลูกค้าใหม่ ทำให้เชื่อว่าจี สตีล จะเทิรน์อะราวด์ ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในปีหน้าได้” กรรมการบริหาร บมจ.จี สตีล กล่าว

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท หลังการแปลงหนี้เป็นทุน ส่งผลให้เจ้าหนี้ทั้ง 8 ราย เข้ามาถือหุ้นสัดส่วนรวมที่ 76.32% (ตารางประกอบข่าว) โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ACO1 (Asia Credit Opportunities (Mauritius) Ltd ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภายใต้การควบคุมของกลุ่ม SSG เข้ามาถือ 49.99%

สำหรับกลุ่ม SSG เป็นกองทุนจากฮ่องกง ประกอบด้วย Capital Holding Limited (SSG CH) SSG Capital Partners lll L.P (SSG lll )และ Kendrick Global Limited (KG)

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับโครงสร้างหนี้อยู่หลายครั้ง จนเมื่อปี 2559 บริษัทได้รับการติดต่อจากกลุ่ม SSG ซึ่งแสดงความจำนงในการให้ความช่วยเหลือโดยปรับโครงสร้างหนี้ให้บริษัท ใช้เวลาร่วม 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 จนเมื่อการประชุมวิสามัญฯวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น จึงทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ประสบความสำเร็จ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3526 วันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2562