ประธานหอฯต่างชาติเตือนรับ 3 ศึก ปรับให้ไว ติดอาวุธให้พร้อม

29 พ.ย. 2562 | 04:25 น.

 

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เขย่าระบบห่วงโซ่การผลิต และขยายผลไปสู่การเผชิญหน้าในอุตสาหกรรมไฮเทค ทำให้บรรยากาศทางธุรกิจโดยภาพรวมในปีนี้เหมือนตกอยู่ในภาวะที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ปุบปับที่ไม่อาจคาดเดาอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการในภาคเอกชนของไทยควรจะต้องขยับตัว เตรียมความพร้อมกันอย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้

 

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ผู้จัดการอาวุโส บริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมในปีนี้อาจจะดูเป็นปีที่วุ่นวาย มีสิ่งที่ก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้เกิดสิ่งที่ยากจะคาดเดา เพราะถึงแม้ว่าการเจรจาเพื่อคลี่คลายปมปัญหาจะยังคงเดินหน้าอยู่ และมีข่าวความคืบหน้าเป็นระยะๆ แต่บางช่วงก็สะดุดขัด ทำให้เกิดความไม่แน่นอน สภาวะเช่นนี้ทำให้บริษัทต่างๆ เตรียมตัววางแผนการระยะยาวได้ยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วมาความรู้สึกที่จะวางแผนลงทุนก็หดลดลง หลายรายต้องโฟกัสกับการแก้ปัญหาที่เกิดขคึ้นเฉพาะหน้าก่อน ไม่อยากที่จะมองอะไรระยะยาว

 

การเปลี่ยนแปลงก็มีข้อดี

“จะเห็นได้ว่าสงครามการค้าที่เกิดขึ้นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระบบซัพพลายเชนของโลกอย่างมาก มีการโยกย้ายฐานการผลิต และไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ แต่ผลกระทบที่ว่านี้ก็อาจเป็นเรื่องดีหากเรามองเห็นโอกาสและพร้อมที่จะสร้างประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผมอยากให้มองว่า ความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราควรเปิดใจยอมรับมันและมองให้เห็นโอกาส เราจะเตรียมรับมือกับมันอย่างไร เพราะถ้าเราพร้อม เราก็จะมีอาวุธในมือที่ดีขึ้น”

 

ประธาน JFCCT กล่าวยกตัวอย่างการโยกย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีนนั้นมีมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากจีนเองก็มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น บริษัทของจีนเองโยกย้ายการลงทุนผลิตออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็พัฒนายกระดับอุตสาหกรรมในจีนไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามากขึ้น ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่ขยับจากการพึ่งพาการส่งออก มาสู่การพัฒนาตลาดในประเทศและเพิ่มอุปสงค์ในประเทศเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สงครามการค้าเป็นตัวช่วยผลักดันให้มันเกิดเร็วขึ้น

ประธานหอฯต่างชาติเตือนรับ 3 ศึก  ปรับให้ไว ติดอาวุธให้พร้อม

 

“การลงทุนก็หลั่งไหลมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น หลายประเทศได้รับอานิสงส์ รวมทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนมาเลเซียตลาดค่อนข้างเล็ก เลยได้รับกระแสลงทุนไม่มากนัก แต่ไทยนั้นเห็นได้ชัดว่ามีการลงทุนเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มุ่งส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ พวกอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้งอาหาร”

 

หวั่นสงครามค่าเงินซ้ำเติม

นอกจาก สงครามการค้า หรือ trade war และ การเผชิญหน้า-กีดกัน-แข่งขันกันในอุตสาหกรรมไฮเทค หรือ tech war ระหว่างสหรัฐฯและจีนแล้ว ประธาน JFCCT เตือนว่าอีก ‘ศึก’ ที่ควรเฝ้าระวังและเตรียมตัวรับมือคือ สงครามค่าเงิน หรือ currency war ซึ่งขณะนี้ก็เห็นแล้วว่า การแข็งตัวขึ้นมากของค่าเงินบาทกำลังส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกรวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ในปีหน้าก็คงยังจะต้องเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินอย่างต่อเนื่อง ถามว่าไทยควรจะต้องรับมืออย่างไร เขามองว่าไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ก็จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องรอให้มีเหตุการณ์แล้วถึงค่อยปรับตัว ซึ่งถึงตอนนั้นก็สายเกินไป

 

“ผมเชื่อในการเปิดกว้างทางความคิด เราต้องเปิด ในภาครัฐนั้นหมายรวมถึงการเปิดเสรี ลดกฎระเบียบต่างๆ ทำขั้นตอนกระบวนการต่างๆให้มันง่าย ในส่วนของผู้ประกอบการเอกชน มันหมายถึงการเปิดใจรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต วิธีการสื่อสาร การทำงาน และรูปแบบการทำธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับนำระบบเครื่องจักรกลอัตโนมัติมาใช้ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและ Big Data การเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากร การฝึกอบรมสร้างทักษะใหม่ๆที่จำเป็นให้กับพนักงาน อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงคือการเติบโต เราต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง”

 

และในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทเอกชนต่างชาติในไทย เขามองว่า มี 4 ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ เข้ามาท่ามกลางบริบทของการเคลื่อนย้ายการผลิตในระบบซัพพลายเชนของโลกในเวลานี้ หนึ่ง คือ Ease of Doing Business คือทำอย่างไรก็ได้ที่จะส่งเสริมให้การทำธุรกิจในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากและมีประสิทธิภาพ สอง คือการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ในประเทศไทยมีแรงงานระดับผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีทักษะความสามารถ มากเพียงพอหรือไม่ สาม คือ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนของถนนหนทาง ท่าเรือ สนามบิน เครือข่ายด้านการขนส่ง รวมไปจนถึงระบบการสื่อสารโทรคมนาคม 4G, 5G ไทยมีความพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับโลกหรือยัง และสุดท้ายคือ สี่ การเปิดเสรีในอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การศึกษา การบริการทางการแพทย์ รวมทั้งการบริการที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย ทำอย่างไรไทยถึงจะดึงบุคลากรต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญและโนฮาว เข้ามาถ่ายทอดเพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาในไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้เร็วขึ้น

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3526 ระหว่างวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2562