จับตาเลื่อนแบน 3 สาร เอื้อระบายสต๊อก

26 พ.ย. 2562 | 22:00 น.

ไบโอไทยชี้เลื่อนแบน 3 สาร เปิดช่องผู้ค้าระบายสต๊อก 4 หมื่นตันสู่เกษตรกรรอบใหม่ จับตาเลื่อน-ล้มแบน กระทบเสถียรภาพรัฐบาล ขณะโรงงานอาหารสัตว์ชี้หากยังเดินหน้า 1 ธ.ค.กระทบต้องปิดโรงงานทั่วประเทศ “สุริยะ” ส่งสัญญาณเลื่อน

คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะมีการพิจารณาทบทวนแบน-ไม่แบน 3 สารเคมีประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมมีมติยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางแรงกดดันจากกลุ่มเกษตรกรที่ออกมาชุมนุมและยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่กระทรวงอุตสาหกรรมและรอฟังผลประชุม

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ระบุว่า การแบน 3 สารเคมีจะต้องมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม หากเลื่อนอีก 6 เดือน ตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงเกษตรฯ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้บริษัทผู้ค้า 3 สารเคมีที่มีสต๊อกรวมกัน 3-4 หมื่นตันได้เร่งระบายสินค้าสู่เกษตรกร เรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ แต่ที่ยอมรับได้คือให้แบนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปเหมือนเดิม แต่ให้ยืดเวลาการส่งกลับสารเคมีข้างต้นไปยังประเทศต้นทางที่นำเข้า หรือส่งไปประเทศที่ 3 หากเป็นเช่นนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายประชาชนจะยอมรับได้

“ที่ต้องระวังหากมีการเลื่อนการแบน 3 สารเคมีคือการถือโอกาสล้มการแบนด้วยหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง หากมีการเลื่อนหรือทบทวนมติการแบนจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เสถียรภาพรัฐบาลอาจมีปัญหา ทั้งนี้ที่กล่าวอ้างว่าผลการสำรวจประชาชนผ่านระบบออนไลน์ 75% คัดค้านการแบน เบื้องหลังได้ไปเอารายชื่อสมาชิกสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และกลุ่มคนรักแม่กลองกว่า 2 หมื่นคนที่เห็นด้วยกับการแบนมารวมด้วย ซึ่งไม่ทราบเอามาได้อย่างไร ขณะที่ผลการสำรวจระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม ก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติแบน ผลสำรวจของนิด้าโพล 75% สนับสนุนการแบน”

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า การแบน 3 สารเคมีมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป เป็นไปได้ยาก เพราะต้องพิสูจน์สารทดแทนจะดีกว่า ถูกกว่า หรือปลอดภัยกว่า 3 สารเดิมอย่างไร และก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการใช้รถแทรกเตอร์มาตัดหญ้าจะดีกว่าการใช้สารเคมีฆ่าหญ้าอย่างไร หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็คงต้องเลื่อนการบังคับใช้

“หากเลื่อนการแบน 3 สารออกไป 6 เดือน และทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในสิ่งที่จะมาทดแทนว่าดีกว่า ไม่ต้องใช้ 3 สารแล้วก็สามารถยกเลิกได้ แต่หากทำไม่ได้ก็คงต้องมาว่ากันอีกที ซึ่งดูแล้วการเลื่อนออกไปอีก 6 เดือนก็ยังคงแบนไม่ได้ หากปัญหาในส่วนของเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข”

ทั้งนี้ผลกระทบในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี โดยให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หมายถึงสารตกค้างวัตถุดิบสินค้าเกษตรกร เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวโพด แป้งสาลีนำเข้า สารตกค้างต้องเป็น 0 จะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าดังกล่าว คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เพราะเวลานี้วัตถุดิบนำเข้าส่วนใหญ่มีสารตกค้าง ขณะที่มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ(Codex)ระบุสารตกค้างไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์ หากวันที่ 1 ธันวาคมนี้มีการแบน 3 สาร โรงงานอาหารสัตว์ และอีกหลายอุตสาหกรรมคงต้องปิดโรงงานจากขาดแคลนวัตถุดิบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายกล่าวว่า การแบน-ไม่แบน 3 สารเคมีในการประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้จะยึดถือตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งข้อมูลที่ออกมาเห็นว่าการแบน 3 สารแล้วจะมีผลกระทบตามมามาก ทางกรมวิชาการเกษตรเสนอว่าควรให้เลื่อนการแบนออกไปก่อนก็จะรับฟัง 

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้รับหนังสือเกี่ยวกับการพิจารณาการใช้ 3 สารมาจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว เช่น ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับวัตถุอันตรายจากชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 และผลการประชาพิจารณ์จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่คัดค้านการแบน 3 สารที่ยังไม่มีผลมาตรการรองรับเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสารที่จะนำมาทดแทน ซึ่งจะนำมาเสนอในที่ประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้  เพื่อให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทั้ง 29 คนได้พิจารณาร่วมกันว่า จะมีแนวทางอย่างไร

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3526 วันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2562