หวั่นจีนกินรวบตลาด CLMV

26 พ.ย. 2562 | 12:08 น.

ม.หอการค้าไทย เผยผลศึกษาสินค้าจีนในตลาดซีแอลเอ็มวี พบจีนกินรวบตลาดซีแอลเอ็มวี ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม คาดอีก 5 ปีไทยเสียส่วนแบ่งตลาด 1.8 แสนล้านบาท จี้นักธุรกิจไทยเร่งปรับตัว

ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการศึกษาสินค้าจีนในตลาดซีแอลเอ็มวี ที่มีผลกระทบต่อไทยว่า ปัจจุบันจีนได้เข้ามาบทบาทและเป็นปัจจัยกระทบต่อการค้าการส่งออกของอาเซียน รวมถึงไทย มาตลอด15 ปีทั้งก่อนเปิดเสรีการค้าในอาเซียน(เออีซี)และเปิดเสรีภายใต้อาเซียนกับจีน โดยสัดส่วนการนำเข้าภายในตลาดอาเซียนด้วยกันมีทิศทางลดลง แต่อาเซียนนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 7.5 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 277,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่อาเซียนส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 4.1 เท่า คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 194,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หวั่นจีนกินรวบตลาด CLMV

ทั้งนี้หากพิจารณาเป็นรายประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ซึ่งประกอบด้วย โดยตลาดเวียดนามนั้นพบว่าสินค้าที่ไทยมีความเสี่ยงมากที่จะสูญเสียให้กับสินค้าจีน เช่น ด้าย ผ้าทอ ใยสังเคราะห์ ร็อกลอบสเตอร์และกุ้ง ไม้ แผงไม้ปูพื้น กระเบื้องไม้เหล็ก และส่วนประกอบ ข้าวโพด เครื่องหนัง เครื่องใช้สำหรับ เดินทาง กระเป๋าถือ ชา กาแฟ  แผ่นตะกั่ว เปลือกหม้อเก็บไฟฟ้า ผลไม้แห้ง เคมีภัณฑ์ เคมี คอนกรีต น้ำตาล มันสำปะหลัง แบตเตอรี่ ผลิตภัณฑ์จำพวกดอกไม้เพลิง ไม้ขีดไฟ

ส่วนตลาดเมียนมา สินค้าที่ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสินค้าจีนแย่งตลาด เช่น เครื่องดื่ม สุรา ซอสและผงปรุงอาหาร ผลิตภัณฑ์จาก เหล็กหรือเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง เครื่องแต่งกาย เมล็ดธัญพืช ยางใน และยางนอกรถยนต์กระดาษและกระดาษแข็ง เครื่องมือ เครื่องใช้ ของใช้ชนิดมีคม ช้อนและ ส้อม ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากปลา

หวั่นจีนกินรวบตลาด CLMV

ขณะที่ลาวนั้นสินค้าที่ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสินค้าจีนแย่งตลาด เช่น ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง ยาง สังเคราะห์ ยางนอก น้ำตาล ผ้าห่มและผ้าคลุมตัว ดอกไม้เทียม ใบไม้เทียม ผลไม้เทียม พรมและสิ่งทอปูพื้น และตลาดกัมพูชา พบว่าสินค้า ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสินค้าจีนแย่งตลาด คือ น้ำาตาล ปูนขาวและซีเมนต์ ผ้าสิ่งทอใช้ในอุตสาหกรรม

คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าสินค้าไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดซีแอลเอ็มวี ให้กับสินค้าจีน 187,795 ล้านบาท จากปัจจุบันที่สินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในตลาดซีแอลเอ็มวีในปี 61 มูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท  เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาต่ำตรงความต้องการของผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในซีแอลมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นโยบายส่งเสริมของรัฐบาลจีนและหลีกเลี่ยงปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

หวั่นจีนกินรวบตลาด CLMV

ทั้งนี้ สิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นผ่าน  3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์บินไปกับพญามังกร โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมหรือธุรกิจจีนเพื่อขายให้กับ ประชาชนลาวหรือเป็นฐานการผลิตส่งออกไปประเทศที่สาม 2. ยุทธศาสตร์เสียบปลั๊ก  โดย จังหวัดของไทยที่ใกล้กับเส้นทางรถไฟจีน-ลาวผ่านต้องรีบเข้าไปหาลู่ทางธุรกิจ อาจจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าของจังหวัด เช่น จังหวัดน่านใกล้กับสถานีรถไฟหลวงกรบางมากที่สุด 3. ยุทธศาสตร์ปลายซอย  โดยธุรกิจไทยจะเข้าไปช่วยเติมเต็มธุรกิจจีน เช่น ธุรกิจโรงแรมจีน และธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าจีน จะมีสินค้าสำเร็จรูปไทยเข้าไปจำหน่าย

ส่วนการเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) อาจทำให้จีนเข้ามาบทบาทในอาเซียน เกิดการทะลักของสินค้าราคาถูกของจีนเพิ่มขึ้นเหมือนที่อินเดียกังวล โดยเฉพาะทะลักเข้าตลาดซีแอลเอ็มวีมากขึ้น ในอีก 5 ปีข้างหน้าไทยอาจสูญเสียการค้าให้กับจีนเพิ่มจากทีประเมินไว้อีกกว่า 1 เท่าตัว คิดเป็นมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันยังต้องติดตามผลกระทบจากการตอบโต้การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯจะรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ไหม หาก 2ประเทศยังไม่อาจตกลงเจรจาชะลอการขึ้นภาษี 15% หรือมูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีกำหนด 15 ธันวาคมนี้ รวมถึงผลเลือกตั้งในฮ่องกง อาจทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯผ่านกฎหมายสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ยิ่งเพิ่มความรุนแรงต่อสงครามการค้าโลก และปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าและประเมินว่าจะอยู่ 30-31 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาทยาวต่อเนื่อง 5 ปี จะทำให้โอกาสส่งออกไทยทรงตัวหรือขยายตัวต่ำแค่ 1-2% ต่อเนื่องหลายปีจากนี้  จากปีนี้คาดส่งออกติดลบ 2% จึงเห็นด้วยที่รัฐจะเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ไทย-สหรัฐฯ เพราะไทยจะได้ประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหลายชนิด