‘สมเจตน์’ยัน  TCAP แกร่ง  ยืนหนึ่ง‘ตลาดเช่าซื้อ’

29 พ.ย. 2562 | 02:45 น.

บมจ.ทุนธนชาต หรือ TCAP เป็น Financial Holding Company 
ที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจการเงิน ทั้งธนาคาร หลักทรัพย์ ประกันภัย ประกันชีวิต เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง และ บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

ล่าสุด สร้างปรากฏการณ์ให้วงการธุรกิจ เมื่อมติที่ประชุมคณะกรรมการ TCAP อนุมัติปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มธนชาตและแผนการรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาต และ ธนาคารทหารไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 โดย TCAP จะขายหุ้นธนาคาร ธนชาตให้กับ TMB ละรับเงินเข้ามาประมาณ 80,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 14,000 ล้านบาท TCAP จะนำไปซื้อบริษัทย่อยและเงินลงทุนจากธนาคารธนชาต ออกมา (บมจ.ราชธานี บริษัท ธนชาตประกันภัยฯ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาตฯ) ซื้อหุ้นเพิ่มทุน TMB ประมาณ 44,000 ล้านบาท และนำไปลงทุนเพิ่มในบริษัทย่อยและเงินลงทุนอื่นๆ ที่จะซื้อต่อจาก Scotia bank อีกประมาณ 12,000 ล้านบาท

สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศกรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า เมื่อ TCAP เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB แล้วจะย้ายความเป็นเจ้าของธนาคารธนชาตที่เคยถือหุ้นสัดส่วน 51% เป็นผู้ถือหุ้น TMB ในสัดส่วนกว่า 20% รองจากกลุ่ม ING ที่ถือหุ้น 21-22% และกระทรวงการคลังอีก 18-19% ซึ่งน่าจะเห็นกระบวนการโอนหุ้นภายในเดือนธันวาคม ซึ่งตามที่ขออนุมัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไว้ กำหนดควบรวม 2 ธนาคารเป็นธนาคารแห่งใหม่ภายในปี 2564 โดยช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจยังคงเดินหน้าภายใต้ 2 ธนาคารคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งเพื่อรวมกิจการเช่นเดียวกับสมัยที่ธนชาตเคยรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย

‘สมเจตน์’ยัน  TCAP แกร่ง  ยืนหนึ่ง‘ตลาดเช่าซื้อ’

สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ

ภายใต้ธนาคารแห่งใหม่นั้น นอกจากโฟกัสเรือธงในธุรกิจรายย่อย โดยเฉพาะเช่าซื้อรถยนต์แล้ว ต่อไปพยายามจะเพิ่มธุรกิจรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้านสินเชื่อบัตรเครดิต เพื่อให้มีความหลากหลาย โดยยุทธศาสตร์ TCAP ยังครองตลาดเช่าซื้อครบทั้งแผง ไม่ว่ารถใหม่ รถเก่ารถแลกเงิน รถบรรทุก หัวรถลากซูเปอร์คาร์ บิ๊กไบค์ ทั้งนี้ TCAP ไม่ละทิ้งโอกาสด้านธุรกิจเช่าซื้อ ยังคงเป็นผู้นำเพียงแต่เปลี่ยนรูป

 

 

สมเจตน์ขยายความถึงอนาคตว่า แม้ TCAP จะถือหุ้นธนาคารแห่งใหม่ในสัดส่วนที่น้อยลง แต่ธนาคารแห่งใหม่จะมี economy of scale ที่ใหญ่เป็น 2 เท่าซึ่งสินทรัพย์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ใกล้เคียงอันดับ 5 มากขึ้น มีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 10 ล้านรายจากเดิมอยู่ที่ 4 ล้านราย โดยเฉพาะลูกค้าจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งมีเครือข่ายและ Product ที่หลากหลาย จึงมีโอกาสจะเติบโตก้าวกระโดดมากขึ้น ในส่วนของพนักงานก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะมีความก้าวหน้าในการทำงานจากสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้นและฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น สามารถนำเสนอให้กับลูกค้าได้ดีขึ้น

ทั้งนี้จากนี้ไป เป็นเรื่องทีมงานต้องเข้มข้นในการทำให้ Synergy เกิดขึ้น ซึ่งการรวมแบงก์ ถ้าทำได้ดีจริงๆ จะทำให้ความแข็งแกร่งมากขึ้น ศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและแบงก์ใหม่ ก็จะเจริญเติบโตมากกว่าแต่ละแบงก์เดี่ยวๆ และมีโครงสร้างรายได้ที่กระจายตัวมากขึ้น หลังจากการปรับโครงสร้าง การขายหุ้น TBANK และการลงทุนในหุ้น TMB แล้ว TCAP จะมีเงินคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท คณะกรรมการจึงมีมติกำหนดแนวทางการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าว โดยจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลพิเศษ 4 บาทต่อหุ้นราว 50% ที่เหลืออีกครึ่งประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน ซึ่งเป็นการต่ออันเก่าที่จะครบกำหนดคงจะเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้นของ TCAP ไม่ลดลง โดยพยายามรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ใกล้เคียงระดับ 12%

 

หน้าที่เราคือ การทำให้รายได้และผลกำไรมีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนตลอดเวลา ฉะนั้นการไม่อิงกับรายได้แหล่งใดแหล่งหนึ่งตลอดเวลาน่าจะเป็นผลดีกับบริษัทในระยะยาว

สำหรับแนวโน้มรายได้จะมาจากธุรกิจหลัก โดยเฉพาะธนาคารใหม่ในสัดส่วน 50-60% ที่เหลือจะมาจากบริษัทลูก ได้แก่ บมจ.ราชธานี บริษัทธนชาตประกันภัยฯ บริษัทหลักทรัพย์ธนชาตฯ นอกจากนี้ TCAP มีแผนจะสร้างรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL และ NPA) และการขายบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-Core)

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,526 วันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2562

                     ‘สมเจตน์’ยัน  TCAP แกร่ง  ยืนหนึ่ง‘ตลาดเช่าซื้อ’