ฮาลาลปลุกเศรษฐกิจเหนือ ผนึก‘การค้า-ท่องเที่ยว’แสนล้าน

29 พ.ย. 2562 | 23:40 น.

 

ฮาลาลปลุกเศรษฐกิจเหนือ ผนึก‘การค้า-ท่องเที่ยว’แสนล้าน

นอกจากกรุงเทพฯและกลุ่มจังหวัดภาคใต้แล้ว เชียงใหม่เป็นอีกจังหวัดที่มีศักยภาพของสินค้า-บริการฮาลาล ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลชู “ฮาลาลเพื่อทุกคน” ในงานหอการค้าแฟร์ที่เชียงใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานจากกลุ่มนักท่องเที่ยว และส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ ให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาลพื้นที่ภาคเหนือ

นายต่อศักดิ์ สุทธิชาติ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการด้านหน่วยงานบ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดเชียงใหม่ และหอการค้าไทย ร่วมจัดกิจกรรม HALAL FOR ALL ในงาน “หอการค้าแฟร์ 2019” ปลายเดือนนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาลพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ และยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการฮาลาล สร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น สร้างโอกาสและช่องทางการตลาด เพิ่มบทบาทในตลาดฮาลาลให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น

ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์

 

ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ กล่าวว่า 10 วันของงานหอการค้าแฟร์ที่เชียงใหม่ จะช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการสินค้า-บริการฮาลาล ได้แสดงศักยภาพของตนเอง และสร้างช่องทางในการขยายตลาดสินค้าได้มากยิ่งขึ้น จากประมาณการผู้เข้าชมงานที่คาดว่าจะมีกว่า 170,000 คน รวมไปถึงกลุ่มนักธุรกิจจากทั้งส่วนกลางและต่างประเทศ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่ตอบรับเข้าร่วมงาน อันจะเป็นการเพิ่มบทบาทในตลาดฮาลาล เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้นด้วย

ในจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลประมาณ 200 ราย แม้จำนวนผู้ประกอบการไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ในแง่ผลิตภัณฑ์พบว่ามีเพิ่มขึ้นกว่า 2-3 เท่าตัว จากการไปตรวจโรงงานแทบทุกเดือน ได้รับคำสั่งซื้อให้ผลิตในลักษณะ OEM หลายโรงมี 600-700-1,000 ผลิตภัณฑ์ ยิ่งการค้าออนไลน์ขยายตัว ผู้ค้าไม่จำเป็นต้องมีโรงงานผลิตเอง ก็สามารถมาว่าจ้างให้ผลิตเพื่อไปทำตลาดในแบรนด์ต่างๆ ได้

ฮาลาลปลุกเศรษฐกิจเหนือ ผนึก‘การค้า-ท่องเที่ยว’แสนล้าน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ จึงพยายามผลักดันในเรื่องของการค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือจากการค้ารูปแบบเดิมที่ผู้ซื้อผู้ขายเจอกัน โดยการค้าออนไลน์ไม่ใช่แค่ใส่รูปใส่ข้อมูลและราคาแค่นั้นแล้วจบ แต่มีรายละเอียดที่ผู้ค้าต้องรู้และเข้าใจ ทั้งเรื่องการตั้งราคาผลิตภัณฑ์ เรื่องของแพลตฟอร์ม การส่ง-รับสินค้า เรื่องของการโอนเงินออนไลน์ ไปจนถึงการทำตลาดออนไลน์ เช่น พวกอินฟลูเอ็นเซอร์ต่างๆ ที่เราเรียกว่าเน็ตไอดอล เป็นต้น แต่ละขั้นตอนมีมาร์จินอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าของการค้าออนไลน์ทั้งสิ้น

“ตัวเลขยอดขายสินค้าฮาลาลของจังหวัดเชียงใหม่ เวลานี้โรงงานแทบทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าอาหาร เช่น ซันสวีท ลานนาเกษตร ชาระมิงค์ ฯลฯ ได้รับการรับรองฮาลาลหมดแล้ว ตัวเลขการส่งออกแต่ละโรงงานไม่ตํ่ากว่า 1,000 ล้านบาท รวมกันแล้วสินค้าฮาลาลของจังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่านับแสนล้านบาท”

กิจกรรมฮาลาลเพื่อทุกคนนี้ เป็นการบูรณาการดำเนินการร่วมกันของทุกฝ่าย กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์-บริการ ของผู้ประกอบการที่นำมาจัดแสดงภายในงานกว่า 80 รายนั้น ได้รับการคัดสรรมาตรฐานในด้านคุณภาพ และมาตรฐานจากทางสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแล้ว อาทิ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากสมุนไพรธรรมชาติ ผัก-ผลไม้แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป สบู่นํ้านมข้าวโอ๊ต สบู่นํ้านมกาแฟ ผลิตภัณฑ์จาก อโวคาโด ผลิตภัณฑ์สปา ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เครื่องเงิน กระเป๋าทำมือ พรมอาหรับ ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับจากอัญมณีต่างๆ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างความรับรู้เรื่องฮาลาล ผ่านนิทรรศการ “HARAM MUSEUM” สิ่งต้องห้ามและต้องสงสัยตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม นำเสนอในธีม Haram & Doubtful Museum แบ่งเป็นโซนย่อย 5 โซน ได้แก่ สัตว์ต้องห้ามตามมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อน วัตถุดิบและสารเคมีที่ต้องสงสัย วัตถุและสิ่งของอุปโภคบริโภค, อาหารแห่งอนาคต (Future Food) พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อปที่น่าสนใจต่างๆ 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,526 วันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2562

ฮาลาลปลุกเศรษฐกิจเหนือ ผนึก‘การค้า-ท่องเที่ยว’แสนล้าน