ทุนจัดตั้งบริษัทใหม่พุ่งสุงสุดในรอบ10ปี

26 พ.ย. 2562 | 10:13 น.

พาณิชย์เผยยอดจดทะเบียนบริษัทต.ค.ลดลง17%  สวนทางยอดทุนจดทะเบียนที่พุ่งสูงสุดรอบ10ปี  เผยเทรนด์การประกอบธุรกิจในอนาคตผู้ประกอบการจะควบรวมกิจการมากขึ้นส่งผลให้จำนวนการจดทะเบียนอาจลดลงแต่ทุนจะสูงขึ้น 

นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึง สถิติการจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือน ต.ค. 2562 พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,751 ราย เทียบกับเดือนก.ย. 2562 จำนวน 6,954 ราย ลดลงจำนวน 1,203 ราย คิดเป็น 17%  และเมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2561 จำนวน 6,197 ราย ลดลงจำนวน 446 ราย คิดเป็น 7%  โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 524 รายรองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 323 ราย และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 193 ราย โดยมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 98,509 ล้านบาท เทียบกับเดือนก.ย จำนวน 28,315 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นทุนจดทะเบียนที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากมีบริษัทขนาดใหญ่จดทะเบียนควบรวมบริษัท มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ทำให้ทุนจดทะเบียนในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจำนวน 70,194 ล้านบาท คิดเป็น 2.48 เท่า และเมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2561 จำนวน 19,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 78,547 ล้านบาท คิดเป็น 3.93 เท่า โดยมองว่าในอนาคตจะมีการจดทะเบียนในลักษณะการควบรวมกิจการมากขึ้นเพื่อดำเนินกิจการแบบครบวงจร และอาจทำให้จำนวนบริษัทอาจลดลงหรือไม่เพิ่มมากนักแต่ทุนการจดทะเบียนจะสูงขึ้น

ทุนจัดตั้งบริษัทใหม่พุ่งสุงสุดในรอบ10ปี  

ทั้งนี้เมื่อประเมินจากสถานการณ์การจดทะเบียนและสภาพเศรษฐกิจ คาดว่าในปี 2562 จะมีสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เฉลี่ย 7.3-7.5 หมื่นราย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลการจดจัดตั้งและเลิกบริษัทพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยยะสำคัญ จึงคาดว่าการในปีหน้าจำนวนการจดจัดตั้งและเลิกจะแตกต่างกันมากนัก อย่างไรก็ตามการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุด และธนาคารพาณิชย์ต่างประกาศลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากลง จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจให้เพิ่มสูงขึ้นได้

ด้านธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,116 ราย เทียบกับเดือนก.ย. จำนวน 1,938 ราย เพิ่มขึ้น 178 ราย คิดเป็น 9% และเมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2561 จำนวน 2,166 ราย ลดลงจำนวน 50 ราย คิดเป็น 2% โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 180 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 135 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร  ร้านอาหาร จำนวน 64 ราย คิดเป็น 3 %ปัจจุบันยังมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ต.ค. 62) จำนวน746,504 ราย มูลค่าทุน 18.18 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 184,539 ราย คิดเป็น 24.72%  บริษัทจำกัด จำนวน 560,708 ราย คิดเป็น 75.11% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,257 ราย คิดเป็น 0.17%

นอกจากนี้  การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนต.ค. 2562 ว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 57 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 41 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 66,239 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 17 ราย เงินลงทุนกว่า 10,378 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 1,108 ล้านบาท และฮ่องกง 6 ราย เงินลงทุน 1,855 ล้านบาท