สนธิรัตน์ ชมการผลิตไบโอดีเซล/ก๊าซชีวภาพ

24 พ.ย. 2562 | 09:55 น.

รมว.พลังงานเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไบโอดีเซลบริษัท นิวไบโอดีเซล จำกัด  พร้อมดูระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียยางพารา

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไบโอดีเซล (B100) ของบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี โดยโรงงานดังกล่าวมีพันธะกิจที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงาน  เพราะมุ่งผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านราคาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถปลูกและขายผลผลิตในราคาที่เหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สนธิรัตน์ ชมการผลิตไบโอดีเซล/ก๊าซชีวภาพ

ทั้งนี้  บริษัทฯ มีการผลิต 4 ส่วน คือ ส่วนผลิตไอน้ำ ส่วนการกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ ส่วนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค ซึ่งในส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบนั้นสามารถผลิตได้รวมวันละ 1,800 ตัน  โดยสามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้รวมวันละ 1,000 ตันหรือ 1.15 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคสามารถผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนได้วันละ 300 ตัน

สำหรับกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลนั้น ใช้กระบวนการแบบ Tranesterification เป็นระบบปิดแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ใช้เทคโนโลยีในการผลิตไบโอดีเซลจาก Malaysia Palm Oil Board  ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการนำน้ำมันปาล์มมาผ่านกระบวนการเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยสามารถผลิตได้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดตรงตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงาน และมีสินค้าพลอยได้คือ กลีเซอรีน ซึ่งจะจัดจำหนายให้โรงกลั่นกลีเซอรีนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอางต่อไป สำหรับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของบริษัทฯ คือผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ซึ่งจะมีคลังน้ำมันอยู่ทั่วประเทศ เพื่อกระจายสินค้าให้กับผู้ค้าน้ำมันรายย่อยในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้และใกล้เคียง

สนธิรัตน์ ชมการผลิตไบโอดีเซล/ก๊าซชีวภาพ

นอกจากนี้  ยังได้เยี่ยมชม ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียยางพารา ขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร ที่สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าแซะ จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งสหกรณ์ดังกล่าวมีผลผลิตส่วนใหญ่เกี่ยวกับยางพารา อาทิ การรวบรวมผลผลิตยางพาราแผ่นดิบ การแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน การจัดจำหน่าย การแปรรูปยางแท่ง เป็นต้น โดยโรงงานของสหกรณ์มีกำลังการผลิตยางแผ่นรมควันชั้น 3 ประมาณ 10 ตันต่อวัน ยางแท่ง STR 20 ประมาณ 2 ตันต่อชั่วโมง สำหรับระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียที่ได้จากยางพาราดังกล่าว ได้รับงบประมาณปี 2562 ในส่วนของโครงการลดต้นทุนพลังงานในการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและการอบแห้งผลผลิตทางการเกษตรภาคใต้ ในการก่อสร้างบ่อแก๊สชีวภาพจากน้ำเสียยางพาราขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณก่อสร้าง 1.5 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืนที่ใช้ในการผลิตได้ประมาณ 125 ตันต่อปี จากเดิมที่มีการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวที่ 600 ตันต่อปี