"เอลนิญโญ" ป่วน โขงแห้งสุดรอบ60ปี

24 พ.ย. 2562 | 06:05 น.

เว็บ Green news เผยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเตือนสภาวะภัยแล้งทั่วลุ่มน้ำโขง  ชี้ไทยกับเขมรจะกระทบหนักสุด

เว็บไซต์ Green news ของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ประกาศเตือนสภาวะภัยแล้งทั่วลุ่มน้ำโขง ระบุชัด ไทย เขมร กระทบหนักสุด ในขณะที่นักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศจาก เบิร์กเลย์แลป มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่ชี้ว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขั้นรุนแรงจะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกต้องเจอกับสภาวะภัยแล้งรุนแรงขึ้นในอนาคต

"เอลนิญโญ" ป่วน โขงแห้งสุดรอบ60ปี

ผลการวิเคราะห์สภาพอากาศเบื้องต้น  โดยศึกษาปริมาณฝนในปีนี้เปรียบเทียบกับข้อมูลปริมาณน้ำฟ้าในอดีตของ MRC ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ช่วงฤดูฝนมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติมาก จากเหตุที่ปีนี้ลมมรสุมที่นำฝนมาสู่ภูมิภาคมาช้าและไปไวกว่าที่คาด ผสมโรงกับความแห้งแล้งจากสภาวะเอลนิญโญ (El Nino) ที่ทำให้แหล่งน้ำในธรรมชาติมีอัตราการระเหยมากกว่าปกติ ส่งผลให้ทั้ง 4 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องประสบกับวิกฤตภัยแล้งนับตั้งแต่ช่วงนับกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
                หัวหน้าศูนย์การจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งของ MRC (Regional Flood and Drought Management Center) ดร.Lam Hung Son กล่าวว่า สภาวะแห้งแล้งยาวนานในปีนี้ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรในภูมิภาคอย่างรุนแรง และถ้าหากสถานการณ์ย่ำแย่ลง การขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอาจตามมาได้ โดยจากการวิเคราะห์สถานการณ์คาดว่า ภัยแล้งครั้งนี้จะสาหัสที่สุดในเดือนธันวาคม โดยพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา เป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ดร.Lam Hung Son กล่าว่า แม้พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามจะไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะฝนแล้ง แต่ปริมาณน้ำจืดที่ลดลงอย่างมากจากภัยแล้งในพื้นที่เหนือน้ำอาจส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำจนทำลายพืชผลทางการเกษตรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาวะฝนแล้งในช่วงกลางฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจนถึงจุดต่ำสุดในรอบ 60 ปีมาแล้ว  อย่างไรก็ดี  จากการคาดการณ์ สถานการณ์ภัยแล้งจะค่อยๆทุเลาลงหลังจากกลางเดือนมกราคมเป็นต้นไป จากสภาพอากาศที่จะเริ่มกลับมาชื้นขึ้น

MRC เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมชาติสมาชิกในระดับรัฐมนตรีที่กรุงพนมเปญ เพื่อหารือถึงปัญหาภัยแล้งในภูมิภาค โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณายุทธศาสตร์การจัดการภัยแล้ง ซึ่งจะช่วยวางมาตรการการรับมือภัยแล้ง การแชร์ข้อมูลน้ำ และการวางกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก

"เอลนิญโญ" ป่วน โขงแห้งสุดรอบ60ปี

สำหรับการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งของทางการไทย ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่า กรมชลประทานได้สั่งการให้หน่วยงานในแต่ละภูมิภา ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ให้พร้อมสำหรับการเข้าไปช่วยเหลือราษฎรที่มีแนวโน้มจะเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน หลังจากหลายพื้นที่ของประเทศเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

จากสถานการณ์ความแห้งแล้งรุนแรง และปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่มีน้อย ทวีศักดิ์ กำชับให้แต่ละพื้นที่ใช้น้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถจัดสรรปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้พอเพียงต่อความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้ง และสำรองใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า  โดยข้อมูลล่าสุดจากคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติเผยว่า ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน มีการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปแล้ว 441 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังคงมีปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่รวม 5,135 ล้านลูกบาศก์เมตร
                ขณะเดียวกัน นักวิจัยจากเบิร์กเลย์แลป (Lawrence Berkeley National Laboratory) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย Wenyu Zhou และ Da Yang เผยแพร่งานวิจัยชิ้นใหม่ เปิดเผยว่าประชากรหลายร้อยล้านคนในเอเชียอาจจะต้องเผชิญกับภัยแล้งยาวนานสาหัสกว่าเดิม หากสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของลมมรสุมทำให้ฝนตกน้อยลงในช่วงฤดูฝน

ผลการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ จากการจำลองโมเดลสภาพอากาศในสถานการณ์สภาวะโลกร้อนที่เลวร้ายที่สุด พบว่า ภายในช่วงสามสิบปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 21 ลมมรสุมเอเชียตะวันออกที่นำฝนมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน จะเปลี่ยนทิศทางขยับลงใต้มากขึ้น และทำให้ Hadley cell หรือเขตแห้งแล้งจากการจมตัวของอากาศแห้งในพื้นที่กึ่งเขตร้อน (Subtropics) ขยายตัว ส่งผลให้พื้นที่ตอนบนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน อันเป็นพื้นที่เหนือน้ำของแม่น้ำโขง มีปริมาณฝนลดลงอย่างชัดเจนในฤดูฝน

ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน พึ่งพิงพึ่งทรัพยากรน้ำที่มาจากฝนมรสุมมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของลมมรสุมจากสภาวะโลกร้อนจะก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลต่อการจัดการน้ำ และการดำรงชีพของประชาชนในภูมิภาค” Yang กล่าว