iTIC ดึง AI-Big DATA คาดการณ์อุบัติเหตุล่วงหน้า

24 พ.ย. 2562 | 05:23 น.

 

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC ) เผยผลทดสอบโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุล่วงหน้าได้แม่นยำมากขึ้น 80% เร่งหาแนวทางลดอุบัติเหตุ 20% ภายใน 2 ปี

iTIC เริ่ม “โครงการวิจัยและพัฒนาข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน – Big Data and AI for Safer Roads” เพื่อแสดงให้เห็นถึงการแบ่งปันข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ สามารถนำมาประมวลผล และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนน

iTIC ดึง AI-Big DATA คาดการณ์อุบัติเหตุล่วงหน้า

โครงการนี้ใช้ฐานข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจากระบบการจัดเก็บข้อมูล 3 ฐาน คือกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รวมกับข้อมูลของมูลนิธิฯ ITIC และกรมทางหลวง โดยใส่ข้อมูลอุบัติเหตุดังกล่าวทั้งหมดลงบนแผนที่ดิจิทัล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์หาสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง วัน เวลา ตลอดจนสถานที่เสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และนำผลที่ได้มาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหาในอนาคต

การนำเอาเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุในอดีตและสร้างระบบพยากรณ์อุบัติเหตุล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ซึ่งจากการทดลองกับข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในอดีต พบว่าระบบดังกล่าวมีความแม่นยำมากถึง 80% และยังพบข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่น่าสนใจมากมาย

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ  ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้รายงานเมื่อปี 2560 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนน 22,491 ราย ลำดับ 9 ของโลก เป็นลำดับ1 ของเอเชีย ดังนั้น การทำงานมูลนิธิฯ ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ทำงานเพื่อหาแนวทางการลดอุบัติเหตุลงให้ได้ 20% ในเวลา 2 ปี

นินนาท ไชยธีรภิญโญ

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัย กล่าวถึงการวิจัยหาสาเหตุ วัน เวลา และสถานที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และการทดลองใช้ AI จากข้อมูลสามารถรู้ได้เป็นรายถนน ข้อมูล Road Data ถนนเส้นนี้โค้งเท่าไหร่ มีสามแยก ป้ายอะไรบ้าง มีกี่เลน และมีข้อมูลเชิงแผนที่ ถนนเส้นนี้ห่างจากร้านเหล้า เซเว่น เอทีเอ็มเท่าไหร่ รวมถึงข้อมูลสภาพอากาศ และเก็บข้อมูลเหตุการณ์

"อุบัติเหตุในประเทศเกิน 50% เกิดขึ้นรอบๆ กรุงเทพมหานคร ขณะที่การเสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซต์ ฉะนั้น การทำนโยบายจึงต้องแยกเรื่องการเกิดอุบัติเหตุกับการเสียชีวิต ออกจากกัน  การแก้ไขปัญหาต้องไม่เหมือนกัน"

งานวิจัยที่ค้นพบพื้นที่กรุงเทพ การเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซต์ และเวลาที่เกิดอุบัติเหตุจะเกิดช่วงค่ำถึงรุ่งสาง หรือแถวถนนรัชดาภิเษก ความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มสูงสุด ช่วงวันศุกร์ เสาร์ ค่ำๆ นี่คือข้อค้นพบ แม้ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหานี้มานานแล้ว แต่แก้ไม่ได้ ค่อนข้างยาก ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร เป็นที่ผู้ขับรถ สภาพถนน สภาพอากาศ หรือเมาแล้วขับ ซึ่งก็ยังไม่มีคำตอบ

นโยบายต้องถูกการวัดผลมากขึ้น เรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ประเทศไทยมีเกือบทุกนโยบายแล้ว แต่คุ้มค่าแค่ไหน ยังเป็นคำถาม จึงอยากให้มีการวัดผลมากขึ้นหากจะออกนโยบายใดๆ มา การวัดผลนโยบาย เช่น  เรื่องของการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากการเก็บข้อมูลปี 2018-2019 พบว่า การตั้งด่านสามารถลดอุบัติเหตุลงไปได้ 757 ครั้ง และพบว่า การตั้งด่าน เขยิบไปเรื่อยๆ ไม่ได้อยู่กับที่ นี่เป็นตัวอย่างของการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะหากข้อมูลดีจะสามารถทำอะไรได้อีกมาก และสามารถบอกได้ว่า การแก้ไขปัญหานี้ประเทศเดินมาถูกทางหรือไม่

iTIC ดึง AI-Big DATA คาดการณ์อุบัติเหตุล่วงหน้า

"วันนี้เราต้องออกแบบการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในประเทศไทยเสียใหม่ ข้อมูลอุบัติเหตุ 1 ครั้งไปโผล่ตรงไหนบ้าง พบว่า มันไปโผล่เยอะเกิน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ต้องมีแค่ 1 ฐานข้อมูล มิเช่นนั้นเสียเวลา ผลการวิเคราะห์ได้จะต่ำมาก” ดร.ณภัทร กล่าว