แบงก์เข้มปล่อยกู้บ้าน ยอดปฏิเสธพุ่ง40%

25 พ.ย. 2562 | 05:10 น.

 แบงก์ชี้ ปีหน้ากู้ซื้อบ้านผ่านยาก เหตุเศรษฐกิจชะลอ ถูกหั่นโอทีกระทบรายได้ของผู้กู้ หลังเห็นสัญญาณรายรับไม่ต่อเนื่อง เผยไตรมาส 4 ตลาดยังไม่ฟื้น เหตุเร่งโอนก่อนมีแอลทีวี พบยอดปฏิเสธพุ่ง 40%

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2562 พบว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ส่งผลให้สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวลดลงต่อเนื่องจาก 4.2% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ระดับ 3.8% โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งมีสัดส่วน 35.3% ของสินเชื่อรวม แม้ว่าจะยังคงเติบโตในระดับสูง แต่ก็ลดลงจาก 9.2% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 8.7% ซึ่งหลักๆ เกิดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังมีการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงก่อนมาตรการกำกับอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) มีผลบังคับใช้ และสินเชื่อรถยนต์ที่เติบโตลดลงตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลง ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันคุณภาพสินเชื่อของระบบพาณิชย์ในภาพรวม ยังมีสัดส่วนหนี้ที่่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.95% เป็น 3.01% โดยมียอดคงค้างเอ็นพีแอลที่ 4.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสก่อน  สาเหตุมาจากลูกหนี้รายใหญ่ในภาคอสังหา ริมทรัพย์ และสินเชื่อเอสเอ็มอี ขณะที่ยอดคงค้างเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ยังเพิ่มขึ้น ส่วนสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) ลดลงจาก 2.74% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.59% เนื่องจากลูกหนี้รายใหญ่บางรายถูกเปลี่ยนการจัดชั้นเป็นเอ็นพีแอลแทน

 

สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์

 

​นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยสิ้นปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราติดลบ 10-15% สาเหตุหลักๆ มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวบวกกับมาตรการ LTV และยังเห็นสัญญาณกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่เคยได้รับค่าล่วงเวลา(โอที) เริ่มไม่ต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของกลุ่มนี้ลดลง ขณะเดียวกันคาดว่า ในปีหน้าหลายธนาคารจะไม่นำรายได้จากโอทีมาคิดรวมเป็นรายได้ของผู้กู้

ดังนั้นจะทำให้ผู้ยื่นขอสินเชื่อมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อยากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายสำหรับการซื้อบ้านตามมาตรการรัฐบาล คือมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ สำหรับซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จะได้ลดค่าธรรมเนียมการโอนจากปกติ 2% เหลือ 0.01% ลดค่าจดจำนองจากปกติ 1% เหลือ 0.01%

ส่วนธนาคารจะเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อหรือไม่นั้น นายสุรัตน์ยอมรับว่า มีส่วนบ้าง เพราะเมื่อเศรษฐกิจชะลอและเห็นสัญญาณความสามารถในการผ่อนชำระต่ำ เพราะรายได้คนกู้น้อยลง ก็ต้องมองบนความเป็นจริงหากฝืนไปก็เจ็บตัว ซึ่งในส่วนของกสิกรไทยไม่ได้กังวลเรื่องตลาด แต่ห่วงภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าตลาด เพราะคาดว่าจะยิ่งส่งผลต่อผู้ประกอบธุรกิจและคนที่พึ่งพิงโอที ขณะที่ยอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ของกสิกรไทยจนถึงสิ้นปีนี้เติบโตราว 10% และยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตได้ตามเป้าทั้งปีที่ 3-4% ส่วนหนี้เอ็นพีแอลเห็นสัญญาณจากทุกอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประเด็นของทุกธนาคารต้องระมัดระวังเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 ปีนี้ยังไม่ฟื้นกลับมา ซึ่งสวนตลาดที่คาดไว้ก่อนหน้าเพราะปกติเดือนธันวาคมลูกค้าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์มากเป็นพิเศษ แต่ปีนี้ภาพรวมตลาดจะยังทรงตัวเหมือนไตรมาส 3 แม้ไตรมาส 3 จะเพิ่มจากไตรมาส 2 ที่ชะลอ แต่ยังไม่เท่าไตรมาสแรกปีนี้ ที่มีการโอนมากที่สุดเพราะก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้

 

 

แบงก์เข้มปล่อยกู้บ้าน  ยอดปฏิเสธพุ่ง40%

แบงก์เราค่อนข้างระมัดระวังมาต่อเนื่อง โดยเลือกโตบางเซ็กเมนต์ เพราะพอร์ตเราไม่ได้ใหญ่มาก เป็น NICHE MARKET เราเฟ้นลูกค้ามาตั้งแต่แรกแล้ว แต่พอมี LTV ยอดปฏิเสธเพิ่มขึ้น แม้ไม่ได้เข้มงวดอะไรเพิ่มก็ตาม โดยลูกค้าที่ยื่นคำขอสินเชื่อปีนี้ มียอดปฏิเสธที่ประมาณ 40% ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะยื่นเอกสาร 2-3 ธนาคารควบคู่กัน แต่ที่สำคัญลูกค้าต้องมีกระแสเงินทุนหมุนเวียน (cash flow)”

 

สำหรับซีไอเอ็มบี ไทย จะมีทั้งลูกค้าบ้านหลังแรกและรีไฟแนนซ์ สัดส่วน 50:50 ซึ่งซีไอเอ็มบี ไทย เป็นเจ้าตลาดรีไฟแนนซ์ โดยสนับสนุนลูกค้าให้มีวินัยเน้นให้ลูกค้าเครดิตดีและมีโอกาสเลือกอัตราดอกเบี้ยพิเศษแต่จะมีค่าใช้จ่ายเรื่องจดจำนอง โดยลูกค้าส่วนใหญ่กระจายตัวทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ อีสเทิร์นซีบอร์ด ปัจจุบันสถาน การณ์ตลาดยังแข่งขันกัน เพราะสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยโดยเฉพาะรัฐบาลสนับสนุนบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยสิ้นปีนี้ คาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีนี้เติบโตได้ 14% คิดเป็นมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท

 

 

ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบดรอปลงตั้งแต่เริ่มมาตรการแอลทีวี ทุกธนาคารเหมือนกันหมด แม้จะมีมาตรการกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายรายย่อยๆ (Mass) ทั้งลดภาษีการโอนหรือจดจำนอง แต่คงใช้เวลาเพราะลูกค้าส่วนหนึ่งทยอยโอนไปตั้งแต่ไตรมาสแรกก่อนออกมาตรการแอลทีวีแล้ว

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,525 วันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2562

แบงก์เข้มปล่อยกู้บ้าน  ยอดปฏิเสธพุ่ง40%