Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

24 พ.ย. 2562 | 02:35 น.

 

มาสด้า ประกาศเต็มๆ ว่าจะนำ CX-8 มาสู้กับรถกลุ่ม “พีพีวี” เช่น ฟอร์จูนเนอร์, ปาเจโร สปอร์ต, มิว-เอ็กซ์ และเอเวอเรสต์ แน่นอนว่าด้วยพื้นฐานการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยเอสยูวี มาสด้าใช้แพลตฟอร์มรถยนต์นั่งที่ต่อยอดมาจาก CX-9 พร้อมโครงสร้างแบบโมโนค็อก ต่างจากรถแบบบอดี้ออนเฟรม พื้นฐานปิกอัพที่เปลี่ยนช่วงล่างหลังจากแหนบเป็นคอยล์สปริง

จริงๆรถอเนกประสงค์ 2 รูปแบบนี้ มีข้อดีข้อเด่นต่างกันครับ ขึ้นอยู่กับความต้องการในการใช้งาน ซึ่ง CX-8 นุ่มนวลขับขี่สบาย ส่วนกลุ่มพีพีวีสูงใหญ่พร้อมลุยสมบุกสมบันไปได้ทุกที่

อย่างไรก็ตาม CX-8 ยังต่อนํ้าหนักให้กลุ่มพีพีวี ในเรื่องภาษีสรรพสามิต การทำตลาดแบ่งเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร กับ ดีเซล 2.2 ลิตร ที่ปล่อยไอเสีย 178 และ 179 กรัม/กม.(ขับเคลื่อน 4 ล้อ) ตามลำดับ ทั้งคู่เสียภาษีในอัตรา 30% ต่างจากกลุ่มพีพีวี ยกตัวอย่าง โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ขุมพลังดีเซล 2.4 ลิตร ปล่อยไอเสีย 200 กรัม/กม. เสียภาษีพิกัด 20%

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

กล่าวคือ CX-8 และฟอร์จูนเนอร์ ปล่อยไอเสียอยู่ในช่วงเดียวกันคือ 150-200 กรัม/กม. แต่รถแบบพีพีวี อยู่ในคลาสพิเศษได้แต้มต่อแบบต่อเนื่องมาจากปิกอัพ

สำหรับ CX-8 เบนซิน 2.5 ลิตร 7 ที่นั่ง รุ่นเริ่มต้น 2.5 S ราคา 1.599 ล้านบาท รุ่น 2.5 SP 1.699 ล้านบาท และดีเซล 2.2 ลิตร(บล็อกเดียวกับ CX-5) รุ่น 7 ที่นั่ง XDL ราคา 1.899 ล้านบาท ส่วนตัวท็อป XDL EXCLUSIVE วางเบาะ 6 ที่นั่ง พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ออพชันเต็มขาย 2.069 ล้านบาท

ผมเคยไปขับ CX-8 เวอร์ชันญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว ส่วนการทำตลาดในไทยเป็นการนำเข้ารถมาจากโรงงานผลิตประเทศมาเลเซีย (เช่นเดียวกับ CX-5) ด้วยความอเนกประสงค์จากเบาะ 3 แถว แต่จะต่างกันตรงแถว 2 ซึ่งตัวท็อปเท่านั้นที่วางเป็นเบาะคู่กัปตันซีต มีคอนโซลกั้นกลาง หรือ 2-2-2 (ในญี่ปุ่นมีรุ่นที่ไม่มีคอนโซล สามารถเดินวอล์กธรูได้เลย)

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

การศึกษาของมาสด้าพบว่า การใช้งานเอสยูวีแบบรถแบบครอบครัวทั่วๆ ไป ลูกค้าชอบเบาะแถว 2 แบบเต็มๆ 3 ที่นั่งมากกว่า (2-3-2) หรือไม่ได้คิดถึง “กัปตันซีต” หรือ เดินทะลุตรงกลางด้วยซํ้า ส่วนเลย์เอาต์แบบ 2-2-2 ที่วางในตัวท็อปราคา 2.069 ล้านบาท ก็หวังเรื่องภาพลักษณ์ อาจจะใช้เป็นรถให้เจ้านายนั่ง (คนซื้อไม่ได้ขับ) มีความหรูหราครบครันสมฐานะ อารมณ์ขยับไปชนกับ “โตโยต้า อัลฟาร์ด” โน่นเลย

ด้านมิติของรถเทียบให้เห็นง่ายๆ คือ มีความกว้างเท่ากับ CX-5 (1,840 มม.) แต่ยาวกว่า 350 มม. เป็น 4,900 มม. ส่วนพี่ใหญ่ขายในอเมริกาอย่าง CX-9 ยาว 5,075 มม. แต่ระยะฐานล้อเท่ากับ CX-8 ที่ 2,930 มม.

CX-8 ทุกรุ่นที่ทำตลาดในเมืองไทยมากับล้ออัลลอยด์ 19 นิ้ว ประกบยาง TOYO Proxes R46 ขนาด 225/55 R19 ดูสมส่วนเต็มตา ขณะที่ระยะต่ำสุดจากพื้น 200 มม. (สูงกว่า CX-5 แต่ต่ำกว่า CR-V 4WD เล็กน้อย) การเข้า-ออกภายในห้องโดยสารไม่ลำบากเกินไป

 ผมได้ทดสอบ CX-8 ตัวท็อป XDL EXCLUSIVE นี่ละครับ รถแบบนี้เน้นเรื่องความสะดวกสบายก่อนเลย อย่างเบาะคู่ “กัปตันซีท” ขนาดไม่ถึงกับฟู หนา ใหญ่ เหมือน “โตโยต้า อัลฟาร์ด” เพราะต้องออกแบบขนาดให้เหมาะสมเผื่อกรณีพับเก็บลงเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

รวมๆ เบาะคู่นี้นั่งสบาย มีที่เท้าแขน รองรับแผ่นหลัง ต้นคอ แบบพอดีตัว ด้านคอนโซลกลางมีที่วางแก้วนํ้า พร้อมช่องต่อชาร์จไฟ USB สามารถควบคุมแอร์ที่เชื่อมต่อมาจากคอนโซลหน้า ปรับแรงลม ความเย็น และทิศทางได้ระดับหนึ่ง

ตัวเบาะแถว 2 เลื่อนหน้า-ถอยหลังได้ 120 มม. ด้วยระบบแมนวล (มือโยก) พร้อมเปิดทางให้คนขึ้นไปนั่งเบาะแถว 3 ได้คล่องแคล่วมากขึ้น ส่วนตำแหน่งนั่งหลังสุดพบว่าคนตัวใหญ่นั่งได้ครับ แต่นั่งทางไกลคงไม่สะดวกสบายนัก

หลังจบการทดสอบเกือบ 300 กม.จาก เชียงใหม่ เชียงดาว ดอยแม่สลอง เชียงราย เส้นทางคดเคี้ยว ขึ้น-ลงเขา ผมตระหนักว่าตำแหน่งที่นั่งสบายที่สุดและรับแรงสะเทือนจากพื้นถนนน้อยคือ เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้า

ทั้งนี้ เบาะนั่งคู่หน้ามีขนาดใหญ่กว่าเบาะคู่แถวที่ 2 ตามการแบ่งสัดส่วนของรถ และความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบได้อเนกประสงค์ แต่มาสด้ายืนยันว่าการออกแบบโครงสร้างเบาะตามหลักสรีระศาสตร์ เน้นการลงนํ้าหนักของตัวและแผ่นหลังด้วยท่าทางที่สะดวกสบายเหมือนกัน

จุดเด่นของ CX-8 คือเรื่องการเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ยิ่งในตำแหน่งกัปตันซีต ต้องบอกว่าเงียบมากๆ และดีกว่าคอมแพ็กต์เอสยูวีทั่วไปและมาสด้า CX-5 แน่นอน

ตามที่มาสด้าคุยเลยครับว่า 3 เสาหลักของการพัฒนาเอสยูวีรุ่นนี้ คือ 1.ต้องการให้นั่งสบาย ช่วงล่างนุ่มนวล (แม้จะยังใช้ระบบ GVC เวอร์ชันแรก ยังไม่เป็น GVC Plus) 2.พยายามลดเสียงรบกวนและแรงสั่นสะเทือน ที่เข้ามาภายในห้องโดยสารให้เหลือน้อยที่สุด 3. รักษาสมรรถนะการขับขี่อันยอดเยี่ยม โดยเฉพาะเสถียรภาพในทางตรง

สำหรับข้อที่ 3 ต้องบอกว่า CX-8 อาจมีบุคลิกไม่สปอร์ตเฉียบมคมเหมือนรถยนต์รุ่นอื่นๆของค่าย ด้วยการเป็นรถครอบครัว เน้นความสะดวกสบายของผู้โดยสารหลัง และความอเนกประสงค์มากกว่า แต่รวมๆของช่วงล่างยังหนึบนิ่ง ดูดซับแรงสะท้านจากพื้นถนนได้ยอดเยี่ยม พวงมาลัยน้ำหนักกำลังพอดีมือ ตอบสนองการควบคุมเป็นธรรมชาติ

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี

ด้านขุมพลังดีเซล 4 สูบ 2.2 ลิตร เทอร์โบ (แปรผันแบบ 2 สเตจ) 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เรี่ยวแรงเพียงพอในการขับเคลื่อนรถตัวถังขนาดนี้ได้สบาย ยิ่งขับบนเส้นทางภูเขาในภาคเหนือ ยังแสดงศักยภาพของอัตราเร่ง จังหวะเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติได้ฉลาด พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD ช่วยเพิ่มความมั่นใจ

ด้านอัตราบริโภคน้ำมันจากการขับเส้นทาง เชียงใหม่-เชียงราย อ้อมเขาไปเกือบ 300 กม. เห็นตัวเลขประมาณ 11-12 กม./ลิตร ขณะที่มาสด้าเคลมเฉลี่ยบนทางราบไว้ 14.7 กม./ลิตร

 รวบรัดตัดความ...มาสด้า ตั้งธงมาสู้ “พีพีวี” แต่ก็คงไม่ถึงกับมา “ฆ่า” ครับ ด้วยราคาขายที่แบกนํ้าหนักของภาษีสรรพสามิตที่เสียมากกว่าถึง 10% ทว่าต้องชูประเด็นนี้เพื่อให้มีความต่างจาก CX-5 พร้อมพัฒนาให้โดดเด่นยิ่งขึ้นในเรื่องของประโยชน์ใช้สอยที่ยืดหยุ่น ความเงียบภายในห้องโดยสารระดับรถยุโรป ซึ่งใครชอบความใหญ่ความนุ่ม และเผื่อการใช้งานเบาะนั่งแถว 3 ผมว่า CX-8 ตอบโจทย์ได้อย่างสมฐานะ 

คอลัมน์เทสต์ไดร์ฟ

เรื่องโดย : กรกิต กสิคุณ

หน้า 28-29 หนังสือพืมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,525 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี Mazda CX-8 ต่อนํ้าหนัก(ภาษี) ท้าชนพีพีวี