ไทย-เทศขานรับอีอีซี กลุ่มปตท. จัดหนัก 5 ปี 2 แสนล.

26 พ.ย. 2562 | 07:00 น.

 

ในงานสัมมนา “EEC NEXT: ทุนไทย-เทศ ปักหมุด อีอีซีจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คม ชัด ลึก และสื่อในเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานในการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ได้ดำเนินงานมาร่วม 3 ปี โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมีการตื่นตัวค่อนข้างมาก และพร้อมที่จะปักหมุดเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

 

เร่งพัฒนาเมืองใหม่รองรับ

 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่าการขับเคลื่อนอีอีซีได้ดำเนินงานไปแล้ว 2 ระยะ โดยระยะแรกได้ทำเรื่องกฎหมายและแผนงาน ระยะที่ 2 โครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 โครงการที่สำคัญ ซึ่งสิ้นปีนี้น่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนรัฐและเอกชนได้ทั้งหมด ส่วนระยะที่ 3 เรื่องการลงทุนและการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน ที่ให้ความสำคัญ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาการกำจัดขยะโดยการเผาในโรงไฟฟ้าเป็นต้นแบบที่ระยองแล้ว มีผลตอบแทนเหมาะสมดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และจะนำไปขยายในพื้นที่อื่นอีก 6 แห่งในอีอีซี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และการยกระดับบริการสาธารณสุข ที่ต้องมีหลักประกันสุขภาพให้กับผู้ที่เข้ามาทำงานในอีอีซี ที่รวมถึงการพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติ และเชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานคร

 

มั่นใจต่างชาติแห่ลงทุน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิว เอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า การดำเนินนโยบายอีอีซี นักลงทุนต่างชาติได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จากการพบปะกับนักลงทุนต่างชาติจะสอบถามในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องหลัก รองลงมาเป็นเมืองใหม่ที่จะเข้ามารองรับเป็นที่พักอาศัย และแรงงานที่จะเข้ามา จึงจะต้องเร่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อรองรับนักลงทุนและครอบครัวที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะต้องมีโรงเรียน โรงพยาบาล และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับ

ขณะที่การดึงต่างชาติเขามาลงทุนนั้น ไม่เป็นห่วง เพราะสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่างชาติในอีอีซีนั้น นักลงทุนยอมรับได้ และทางอีอีซีก็ออกระเบียบต่างๆ ให้มีความรวดเร็ว ซึ่งผลกระทบสงครามการค้าที่เกิดขึ้น หากไม่มีอีอีซีรองรับ ต่างชาติจะไปลงทุนประเทศอื่นแทน โดยที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในนิคมของบริษัทแล้วราว 3.5 หมื่นไร่ มีลูกค้าเกือบ 1 พันราย มีเม็ดเงินสะสมลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท

 

ไทย-เทศขานรับอีอีซี  กลุ่มปตท. จัดหนัก 5 ปี 2 แสนล.
 

 

พีทีทีจีซีทุ่มอีกแสนล้าน

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซี ช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2567) วงเงิน 1 แสนล้านบาท จากช่วง 3 ปีแรก (ปี 2560-2562) ที่ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 1 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งในระยะต่อไปจะขยายความร่วมมือในการชักชวนพันธมิตรต่างๆ เข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่มากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับภาครัฐออกไปเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งบริษัทยังให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการดำเนินการ 3 ส่วน คือ การปรับลดคาร์บอนในกระบวน การผลิต มีผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดคาร์บอน และการทำเรื่องของไบโอชีวภาพ

ดังนั้นจากปี 2563 เป็นต้น กลุ่มปตท.และพีทีทีจีซีจะใช้เม็ดเงินลงทุนรวมในอีอีซีไม่ตํ่ากว่า 2 แสนล้านบาท (ปี 2563-2567) แบ่งเป็น ปตท. 1 แสนล้านบาท และพีทีทีจีซีอีก 1 แสนล้านบาท

 

MROเร่งเดินหน้าลงนาม

..รณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานโครงการ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ระหว่างการบินไทย กับ แอร์บัส คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งตามกระบวนการ PPP จะมีขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมายประมาณ 6 เดือน หลังจากสามารถเจรจารูปแบบ (โมเดล) ธุรกิจในเบื้องต้นร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่ายได้ลงตัวแล้ว ทั้งเรื่องของเงินลงทุน ด้านเทคนิค การออกแบบโครงการ เหลือการเจรจารายละเอียดของแผนงานที่ชัดเจนอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้

 

การเงินพร้อมปล่อยกู้

นายยุทธนา ไสไทย ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าหน่วยงานที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Advisory Unit) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยูโอบี เป็นสถาบันการเงินที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ประเทศสิงคโปร์ และได้ขยายการทำธุรกิจออกมาเป็นสถาบันการเงินระดับภูมิภาค และในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่คือ FDI Advisory Unit ที่จะเป็นหน่วยงานกลางที่อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบัน มีลูกค้าที่ใช้บริการ FDI Advisory Unit ประมาณ 2,000 บริษัท และเข้ามาลงทุนในประเทศไทยผ่านยูโอบีเกือบ 300 บริษัท โดยปัจจุบันนักลงทุนที่เข้ามามากคือ จีน และมาเลเซีย ซึ่งธุรกิจที่สนใจลงทุนคือ ภาคการผลิต อาหาร และการบริโภค

ดังนั้นบริษัทมีความพร้อม ที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยโปรโมตการลงทุนในอีอีซี และพร้อมสนับสนุนด้านการปล่อยสินเชื่อ และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศไทยให้กับนักลงทุนทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี เพราะปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก มุ่งเข้ามาในกลุ่ม CLMV และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,525 วันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2562

ไทย-เทศขานรับอีอีซี  กลุ่มปตท. จัดหนัก 5 ปี 2 แสนล.