ผลศึกษา FTA ไทย-อียู น้ำตาล-ยา-พันธุ์พืชน่าห่วง

21 พ.ย. 2562 | 08:31 น.

พาณิชย์ เผยผลศึกษาผลกระทบหากไทยทำเอฟทีเอกับอียู ด้านบวกกันจีพีดีไทยเพิ่มขึ้น 1.63 % ส่งออกเพิ่มขึ้น3.43 % แต่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งการแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา ชี้อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสินค้าเกษตรไทยอาจเสียเปรียบ

 

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ปฏิบัติภารกิจแทนนางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยถึง ผลการศึกษาผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ไทย-สหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งกรมฯ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) พบว่า หากไทยมีเอฟทีเอไทย-อียู และมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการของทั้งสองฝ่าย จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยเพิ่มขึ้น 1.63% อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.41% การส่งออกไปตลาดอียูเพิ่มขึ้น 3.43% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42% การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74% ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น1.32 % และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน เป็นต้น

สำหรับสาขาการผลิตที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

ผลศึกษา FTA ไทย-อียู น้ำตาล-ยา-พันธุ์พืชน่าห่วง

 

ส่วนสาขาที่คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้า และต้องเตรียมการปรับตัว เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และเมล็ดถั่ว เป็นต้น โดยประเด็นด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นข้อกังวลหลักของภาคประชาสังคมก็มีการวิเคราะห์ และเสนอแนะในผลการศึกษาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและอำนาจซื้อสูง ด้วยประชากรกว่า 512 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของไทย ผลการศึกษาพบว่า การฟื้นการเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู ที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดของสินค้าที่ไทยมีศักยภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของคู่ค้าไทยหลายประเทศ ยังสามารถช่วยเพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขันของไทยที่หายไป เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และบราซิล เป็นต้น

ผลศึกษา FTA ไทย-อียู น้ำตาล-ยา-พันธุ์พืชน่าห่วง

ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุน ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เป็นต้น หากไทยจะฟื้นการเจรจา จะต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือเยียวยาอย่างรอบคอบ

 

“กรมจะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปวิเคราะห์กับผลการรับฟังความเห็น ผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และภาคประชาสังคม ที่กรมฯ จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาคของไทย ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2562 เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป”

ผลศึกษา FTA ไทย-อียู น้ำตาล-ยา-พันธุ์พืชน่าห่วง

สำหรับสหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,341ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 9.4% ของไทยที่ค้ากับทั่วโลก โดยไทยส่งออก 25,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.27% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,273 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น9% สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม