คลัง-แบงก์ชาติ ประสานดูแลเศรษฐกิจ

20 พ.ย. 2562 | 09:40 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3524 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ย.2562 

 

คลัง-แบงก์ชาติ ประสานดูแลเศรษฐกิจ


          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2562 เติบโต 2.4% ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.3% และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัว 0.1% จากไตรมาส 2 และเมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 2562 จีดีพีเติบโต 2.5% และคาดว่าทั้งปี จีดีพีจะขยายตัว 2.6% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.2%

          มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 16.88 ล้านล้านบาท ทำให้รายได้ต่อหัวต่อคนเฉลี่ย 248,406.5 บาทต่อปี ลดลงจากเดือนสิงหาคมอยู่ที่เฉลี่ย 250,086.5 บาทต่อปี แต่เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 240,568.7 บาทต่อปี โดยถ้าจะให้จีดีพีขยายตัวที่ 2.6% ตามประมาณการใหม่ ต้องมีมาตรการกระตุ้นทั้งลงทุน การบริโภค การเบิกจ่ายของรัฐและขับเคลื่อนการส่งออก ทั้งรายประเทศและรายสินค้า

          สศช.ยังประมาณการไปถึงปีหน้า จีดีพีจะขยายตัวได้ที่ 3.2% แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้เสนอแนะให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 3.0% การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวต่อเนื่อง โดยเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง รักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการดูแลเกษตรกร เศรษฐกิจฐานราก

          กระทรวงการคลังที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลด้านเศรษฐกิจเองก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจขยายตัวตํ่ากว่าประมาณการไว้ที่ 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบแต่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ขยายตัวได้ 2.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 เป็นผลมาจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย เห็นได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 1.9%  และล่าสุดในเดือนตุลาคมจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวถึง 6%

          ส่งออกและท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจ 2 ภาคส่วนนี้มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงเกือบ 70% เมื่อการส่งออกมีปัญหาจากสงครามการค้า ประกอบกับผู้ส่งออก ผู้ผลิตไทยปรับตัวรับกับเศรษฐกิจใหม่ไม่ทัน จึงลากให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวตาม การบริหารเศรษฐกิจจำต้องประสานหนุนเสริมกันในทุกภาคส่วน ทั้งการกระตุ้นดูแลผ่านมาตรการทางการคลังและบริหารอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดูแลให้เอื้อต่อเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีการปล่อยให้ค่าบาทแข็งเกินไป จนสะท้อนผลกระทบไปที่เศรษฐกิจภาพรวม สะท้อนไปที่รากหญ้า เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยต่อหัวลดลง