อุตตมรับ จีดีพีปีนี้ ต่ำกว่าเป้า

18 พ.ย. 2562 | 08:25 น.

อุตตม รับ จีดีพีปีนี้ต่ำกว่าเป้า พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสริมช่วงท้ายปี วอนมองภาพรวมชิมช้อปใช้เดินหน้าได้ หลังคนแก่ไม่สนลงทะเบียนเฟส 3 ด้านสุริยะ เตรียมหารือผู้ประกอบการยานยนต์ หลังยอดขายตก ก่อนออกมาตรการช่วยเหลือ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือขยายเพียง 2.6% ว่า ยอมรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังประมาณการไว้ที่ 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

อุตตมรับ จีดีพีปีนี้ ต่ำกว่าเป้า

อย่างไรก็ตามยังพบว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ยังขยายตัวที่ 2.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 1.9% ดีกว่าไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 1.5% และล่าสุดในเดือนต.ค. VAT ขยายตัวถึง 6%

 

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ยังทรงตัวต่อเนื่อง แม้การลงทุนเพื่อการผลิตจะชะลอตัวบ้าง ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้เร่งรัดให้เม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงเชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มดีขึ้นได้ แต่กระทรวงการคลังก็พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และหากมีความจำเป็นและเหมาะสมก็จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาดูแลต่อไป

"ที่สศช.บอกว่าหากไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 2.6% นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว หากมีความจำเป็นและเหมาะสมต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มก็ยังมีเวลาเหลืออีก 1 เดือนครึ่ง กำลังประเมินดูอยู่ว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่" นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม ยังกล่าวถึงการลงทะเบียนชิมช้อปใช้เฟส 3 ในส่วนของผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรว่า หากมองในภาพรวมถือว่าโครงการชิมช้อปใช้ทั้ง  3 เฟส เดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่อาจจะมีบางจุดที่เครื่องแผ่วลงบ้าง ดังนั้นขอให้อย่าด่วนตัดสินว่าโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ให้มองในภาพรวมจะเหมาะสมกว่า

ส่วนความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปิดโรงงานในช่วงที่ผ่านมา ว่า แม้จะมีการลดกำลังการผลิตลง แต่เม็ดเงินลงทุนของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง  3.6%  โดยปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การปิดโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์  ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท จาก 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 30.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% ดังนั้นจึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.)ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์กลับมาเติบโตได้เป็นปกติ

อุตตมรับ จีดีพีปีนี้ ต่ำกว่าเป้า

อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนพ.ย.นี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะลงพื้นที่ และหารือกับผู้ประกอบการยานยนต์ เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชน ก่อนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าวต่อไป

"ธปท. ยังสามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้มากกว่านี้ หลังจากออกมาตรการผ่อนคลายค่าเงินไปแล้ว ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกัน และกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงการคลังจะช่วยดูมาตรการที่จะช่วยเหลือได้ ซึ่งจะมีการประสานกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการพิจารณาสถานการณ์ หากมีความจำเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมก็พร้อมจะออกมาตรการเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติม" นายสุริยะ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาพัฒน์ชี้ รายได้ต่อหัวคนไทยลด 1,680 บาทต่อปี

ทีเอ็มบีหั่นเป้าจีดีพีปี 62 เหลือ 2.5%