ดึงไต้หวันลงทุน ฮับอิเล็กฯแสนล.

19 พ.ย. 2562 | 06:05 น.

“ยามาโตะ” ทุ่มเกือบ 2 พันล้าน เดินหน้าพัฒนานิคมฯ เป็นฮับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะแห่งแรกของไทย ดึงไต้หวันลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท เร่งเจรจาปิดดีลภายในสิ้นปีนี้กว่า 10 ราย พร้อมโอนที่ดิน 430 ไร่ ได้กลางปีหน้า

 

 

เริ่มเห็นภาพความชัดเจนในมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ Thailand Plus Package ที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้เห็นชอบไปเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่เร่งย้ายฐาน สืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า โดยหนึ่งในมาตรการดังกล่าว เป็นเรื่องของการจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน เป็นต้น 

โดยเฉพาะนักลงทุนจากไต้หวัน ที่ขณะนี้ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล ที่มีนโยบายสนับสนุนให้ออกไปลงทุนยังภูมิภาคอาเซียน เห็นได้จากในแต่ละเดือนทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ของกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ได้จัดนำคณะนักลงทุนมาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับมีนักลงทุนบางรายที่เข้าไปลงทุนอยู่ในจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาจังหวัดชลุบรีและได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอของไทยแล้ว

 

ยามาโตะเร่งพัฒนาพื้นที่

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ อินดัสทรีส์ บนเนื้อที่ 690 ไร่ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เป็น 1 ใน 21 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม ได้รับการประกาศจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ไปแล้วเมื่อปี 2561 ถือเป็นพื้นที่นักลงทุนจากไต้หวันให้ความสนใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากมีแผนที่จะพัฒนารองรับการลงทุนของนักลงทุนไต้หวันเป็นการเฉพาะ

นายมงคล สุขเกษมไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อเมริกัน บิวเตอร์ จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ อินดัสทรีส์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้นิคมฯยามาโตะเริ่มก่อสร้างหรือพัฒนาพื้นที่ 690 ไร่แล้ว ด้วยเงินลงทุนราว 1.8 พันล้านบาท ควบคู่ไปกับกิจกรรมทางการตลาดในการเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาใช้พื้นที่

สำหรับนิคมแห่งนี้มีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรือฮับอิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกของไทย ตามการส่งเสริมใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี อีกทั้งนิคมแห่งนี้จะรองรับนักลงทุนจากไต้หวันโดยตรง ที่รัฐบาลไต้หวันสนับสนุนให้ออกไปลงทุนนอกประเทศ ซึ่งมีไทยเป็นประเทศเป้าหมาย รวมทั้งรองรับการย้ายฐานการผลิตจากจีน ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า

 

กว่า 10 รายเล็งปักหมุด

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนจากไต้หวันกว่า 10 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และรวมถึงการผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งได้ข้อยุติแล้ว 1 ราย ที่จะใช้พื้นที่ราว 30 ไร่ ในการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะได้ข้อยุติได้ภายในสิ้นปีนี้

“นิคมแห่งนี้ ได้วางผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินไว้ แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อกิจการอุตสาหกรรมไว้ 430 ไร่ ในจำนวนนี้ 43 แปลง หรือแปลงละ 10 ไร่ ซึ่งนักลงทุนที่เจรจาไว้จะใช้พื้นที่ลงทุนราว 20-30 ไร่ต่อโรงงาน หากเจรจาได้ข้อยุติทั้งหมด ก็สามารถปิดดีลการขายพื้นที่ได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ และสามารถจะโอนพื้นที่ให้นักลงทุนได้ประมาณกลางปี 2563 จากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าจะขายที่ดินหมดในระยะ 3 ปี”

ดึงไต้หวันลงทุน  ฮับอิเล็กฯแสนล.

 

คาดเกิดเม็ดเงินลงทุนแสนล.

นางมงคล กล่าวอีกว่าจากพื้นที่ดังกล่าวคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในนิคมแห่งนี้ได้ไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยประเมินจากลูกค้าที่ไปหารือด้วยแล้ว จะใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 5 พันล้านบาทต่อแห่ง เนื่องจากการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง จากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาผลิต ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่านักลงทุนจากไต้หวันที่เข้ามา ซึ่งเป็นประเทศผู้นำผลิตอิเล็กทรอนิกส์ของโลกอยู่แล้ว จะไม่ลงทุนโรงงานขนาดเล็กอย่างแน่นอน

ขณะนี้เชื่อมั่นว่า พื้นที่นิคมที่มีอยู่อาจจะไม่สามารถรองรับนักลงทุนจากไต้หวันได้เพียงพอ เพราะนักลงทุนที่ย้ายฐานจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากกรณีของบริษัท Quanta Computer ซึ่งเป็น 1ใน 5 ยักษ์ใหญ้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน ผลิตเซิร์ฟเวอร์และศูนย์ข้อมูลให้กับบริษัทใหญ่อย่าง Facebook, Google, Amazon และ Microsoft ได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนมาจังหวัดชลบุรี

โดยได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอแล้ว ดังนั้นเมื่อบริษัทแม่ย้ายฐานมาไทย เชื่อว่าบริษัทซัพพลายเชนที่มีอยู่ไม่ตํ่ากว่า 500 บริษัท จะย้ายฐานการผลิตตามมาด้วย รวมถึงโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ไปตั้งในสหรัฐอเมริกา ก็จะย้ายมาลงทุนในอีอีซี เช่นกัน ซึ่งยังไม่รวมถึงโรงงานของไต้หวันที่มีการลงทุนในไทยแล้วกว่า 5 พันแห่ง จะมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย

 

ดีป้าดึงทุนสหรัฐฯลงทุน

ขณะที่นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนัก งานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ของกลุ่มดิจิทัลมีหลายเซ็กเตอร์ที่ให้ความสนใจ โดยช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ดีป้าจะไปเจรจากับไมโครซอฟท์ที่สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับข้อตกลงในการทำเรื่องเอไอเซ็นเตอร์ว่าทางไมโครซอฟท์จะมีการย้ายฐานที่เป็นโปรเฟสชันนัล เซ็นเตอร์มาในไทยกี่เปอร์เซ็นต์ และต้องการให้ทางรัฐบาลไทยช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง

นอกจากนี้ยังมีหัวเว่ยที่ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นเชิงนโยบายหัวเว่ยพยายามที่จะสร้างทรัพยากรบุคคลให้ รวมถึงเรื่องของกลุ่มที่เป็น 3D ดีไซน์,วีอาร์ (VR), เออาร์ (AR) ที่จะดึงมาจากฝั่งยุโรป ล่าสุดที่จะหารือบริษัทจากจีนในเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์ 

หน้า1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562