เงินกองทุนประกันสังคม ต้องใช้อย่างคุ้มค่า

16 พ.ย. 2562 | 06:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3523 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย.2562

 

เงินกองทุนประกันสังคม

ต้องใช้อย่างคุ้มค่า

 

     กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง สำหรับข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคมให้เกิดประโยชน์และตอบสนองแก่ความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เช่น การกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่น ๆ

     แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อสั่งการดังกล่าว เป็นแนวคิดของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงินประกันสังคมได้รับประโยชน์จากเงินของตัวเอง ในแบบที่ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้คำนิยามว่า “ทำอย่างไรให้เงินกลับคืนไปยังผู้ประกันตนเพราะเป็นเงินของเขา เพื่อนำไปทำให้เกิดประโยชน์” ไม่ใช่นำไปปล่อยกู้ให้กับคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมหรือภาคเอกชน

     กองทุนประกันสังคมเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2534 ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 เงินกองทุนประกันสังคมตามงบการเงินมีจำนวน 2,177,473 ล้านบาท แต่การบริหารเงินกองทุนประกันสังคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่กว่า 94% หรือประมาณ 2,055,040 ล้านบาท ถูกนำไปหาผลตอบแทนด้วยการลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่การนำมาช่วยเหลือผู้ประกันตนนอกจากการจ่ายผลประโยชน์ทดแทนแล้ว ก็จะมีบ้างแต่ยังน้อย เช่น การนำเงินไปฝากกับสถาบันการเงินเพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับผู้ประกันตนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี จึงน่าจะมีการพิจารณาแนวทางอื่นๆเพิ่มเติม จนกลายเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์

     อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ กล่าวคือจำนวนผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นในขณะที่ผู้อยู่ในกำลังแรงงานลดลง จนหลายฝ่ายกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เงินไหลออกจากกองทุนประกันสังคมมากกว่าเงินไหลเข้า สุดท้ายเงินกองทุนจะติดลบ เราจึงเห็นว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสนี้กำหนดยุทธศาสตร์และวางแนวนโยบายการบริหารเงินกองทุนประกันสังคมอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนอย่างแท้จริง ที่สำคัญการดำเนินการต่างๆ ต้องสร้างความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว ไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต