เปิดแผน ‘จารุลักษณ์’  เตรียมรื้อกฎหมายกอช.

19 พ.ย. 2562 | 23:35 น.

การออมเพื่ออนาคต ในวัยเกษียณเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในวันที่เราเห็นแล้วว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่สัดส่วนการออมของประชาชนยังตํ่า การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) จึงเป็นหนึ่งในภารกิจเพื่อดูแลชีวิตหลังวัยเกษียณของแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการรองรับ

ปัจจุบันกอช.มีจำนวนสมาชิก 2,215,524 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จากที่มีสมาชิก 610,683 รายหรือเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 262.79% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่เปิดกองทุน ซึ่งมีสมาชิกออมเพียง 391,055 ราย ขณะที่ปี 2563 กอช.ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ได้ 2.5-3 ล้านราย

ทั้งนี้หากจำแนกอายุของสมาชิกกอช.จะพบว่า อายุ 15-30 ปี มีสัดส่วน 12.1% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด อายุ 30-50 ปี มีสัดส่วน 44.2% อายุ 50-60 ปี มีสัดส่วน 38.4% และอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วน 5.3% โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีสัดส่วนสูงถึง 49.5% ซึ่งมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลักสัดส่วนถึง 47.02%

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยฐานเศรษฐกิจกอช.อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการแก้ไขพระราชบัญญัติ (...) กองทุนการออมแห่งชาติ ..2554 เพื่อให้ครอบคลุมกับผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับหลังเกษียณอายุตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น โดยจะแก้ไขในหลายประเด็น ทั้งขยายช่วงอายุของผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกให้มีอายุ 7-65 ปี หรือขยายอายุช่วงบนอาจจะขยายไปแบบไม่จำกัดอายุ จากเดิมที่ได้กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นสมาชิกต้องมีอายุ 15-60 ปี เท่านั้น รวมถึงขยายเพดานการออมสะสมต่อปี จากปัจจุบันต้องไม่เกิน 13,200 บาทต่อคนต่อปี ให้เป็น 30,000-50,000 บาทต่อคนต่อปีได้ และเพิ่มวงเงินสมทบของภาครัฐที่ปัจจุบันไม่เกิน 1,200 บาทต่อคนต่อปี

เปิดแผน ‘จารุลักษณ์’  เตรียมรื้อกฎหมายกอช.

จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ

ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกที่เป็นแรงงานนอกระบบ มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้้นหลังเกษียณอายุ โดยหากเพิ่มเพดานการสะสมเงินและเพิ่มเงินสมทบจากรัฐตามสัดส่วนที่ออม จะทำให้สมาชิกมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณอายุเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 2,600-3,000 บาท ตามเป้าหมายที่กอช.ต้องการ ซึ่งสูงกว่าปัจจุบันที่เพดานการออมเต็มเพดานอยู่ ที่ 13,200 บาทต่อปี จะทำให้สมาชิกได้รับเงินบำนาญเพื่อใช้จ่ายเพียงเดือนละ 600 บาทเท่านั้น

 

จริงๆ อยากแก้กฎหมายให้ขยายอายุคนออมแบบฟรีไปเลย เพราะ 600 บาท ที่ได้เป็นเงินบำนาญทุกเดือน ถ้าสะสมเต็มเพดานที่ 13,200 บาทต่อปี ต่อให้ออม 10 ปี ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในยามเกษียณ ดังนั้นเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้มีเงินใช้เพิ่มขึ้น แต่ยอมรับต้องใช้เวลาศึกษา เพราะจะมีทั้งการศึกษาจากงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงการจัดสรรงบประมาณลงมาเพื่อเป็นเงินสมทบด้วย ซึ่งปัจจุบันได้เงินงบประมาณเฉลี่ยประมาณ 500-1,000 ล้านบาท รวมถึงจะต้องนึกถึงความสามารถในการออมของสมาชิกด้วย เพราะปัจจุบันสมาชิก 1 คน ออมเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1,200-1,500 บาทเท่านั้นนางสาวจารุลักษณ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม กอช.จะพยายามศึกษาให้เสร็จภายในปีนี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกอช.พิจารณา ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปีหน้าต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงการคลังต้องการให้กอช.มีการแก้ไขกฎหมายทั้งระบบในคราวเดียว เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในการออมของคนระดับฐานรากในคราวเดียว ซึ่งนอกจากจะได้เม็ดเงินการออมของคนฐานรากมากขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มคนที่ไม่เคยมีแนวคิดจะออมเงินเพื่อเกษียณอายุหันมาให้ความสนใจมากขึ้นด้วย

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562

                       เปิดแผน ‘จารุลักษณ์’  เตรียมรื้อกฎหมายกอช.