ชี้ซอฟต์แวร์ระบบอัตโนมัติ กระแสโตโลกแรงงานดิจิทัล

20 พ.ย. 2562 | 07:45 น.

เอบีม คอนซัลติ้ง เผยผลสำรวจระบบการทำงานซอฟต์แวร์อัตโนมัติ กำลังเป็นกระแสที่เติบโตในโลกของแรงงานดิจิทัล ไทยมีศักยภาพเติบโตสูงมาก ระบุภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีมาใช้มีเพียง 13%

เอบีม คอนซัลติ้ง เผยผลสำรวจระบบการทำงานซอฟต์แวร์อัตโนมัติ กำลังเป็นกระแสที่เติบโตในโลกของแรงงานดิจิทัล ไทยมีศักยภาพเติบโตสูงมาก ระบุภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีมาใช้มีเพียง 13%

 

นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าการใช้งานระบบการทำงานซอฟต์แวร์อัตโนมัติ Robotic Process Automation ( RPA) ตามแบบกฎเกณฑ์มาตรฐานอัตโนมัติ หรือ rule-based automation ซึ่งถือว่ายังไม่เป็นแรงงานดิจิทัลเต็มรูปแบบนั้น เป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตของโลก และเทคโนโลยีนี้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยผสมผสาน ระบบการรู้จำอักขระด้วยแสง (OCR) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะทำให้เป็นเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมากขึ้นและพร้อมให้ใช้งานในตลาดเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ จากการสำรวจโดยเอบีมเกี่ยวกับสถานการณ์ของ RPA ในประเทศไทยกับบริษัทขนาดใหญ่ใน SET100 พบว่า กลุ่มที่ 1 จำนวน 66% ยังไม่ตระหนักว่า RPA คืออะไร และ RPA สามารถทำงานอย่างไร กลุ่มที่ 2 จำนวน 21% ของบริษัทที่สำรวจตอบว่ากำลังพิจารณาและสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ยังไม่แน่ใจถึงประโยชน์ที่แท้จริง และกลุ่มที่ 3 ซึ่งพบว่ามีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้ติดตั้งและใช้งาน RPA แล้ว ทั้งนี้กลุ่มแรกยังไม่สามารถหาคนทำงานที่เหมาะสมในการเริ่มต้นแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ไม่ทราบวิธีการที่เหมาะสมที่จะเริ่มโครงการดังกล่าว ประสบกับปัญหาในการคำนวณอัตราส่วนของผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) และกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้ใช้งาน ส่วนกลุ่มสุดท้าย กำลังเผชิญกับการขยายผล การปรับเปลี่ยนตามธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป และการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายของ ROI

 

“การใช้ RPAจะช่วยให้ธุรกิจได้ประโยชน์สูงสุด หากธุรกิจมีกระบวนการเป็นมาตรฐาน แม่นยำสม่ำเสมอ และดำเนินการควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยให้สามารถขยายงานได้ง่าย”

 

นายฮาระ กล่าวว่า ภาคธุรกิจที่มีการนำ RPA มาใช้มากที่สุด คือธุรกิจธนาคาร 70% และธุรกิจประกันภัย 60% ตามลำดับ ในขณะที่ธุรกิจการผลิต ธุรกิจบริการ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีการแสดงความสนใจจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยปัจจุบันการใช้ RPA ในประเทศไทยเน้นเรื่องการจัดทำรายงาน การส่งข้อมูลระหว่างระบบ (System interface) และการป้อนข้อมูลเข้าระบบ ซึ่งถือเป็นงานอันดับต้น ๆ ของหน่วยงานการเงินและบัญชี

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3523 ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2562