จับตา“อาร์เซ็ป”ไทยส่งออกยากขึ้น

15 พ.ย. 2562 | 05:35 น.

รายงานพิเศษ โดย บัณฑูร  วงศ์สีลโชติ

รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทำให้ประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรืออาร์เซ็ป)ต่างเห็นความจำเป็นต้องรีบสรุปความตกลงนี้ เพื่อทำให้การพึ่งพาตลาดของประเทศที่ไม่อยู่ใน RCEP น้อยลงโดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ 

ความตกลงส่งเสริมให้เกิดโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ ช่วยส่งเสริมการลงทุน สร้างงาน แต่การที่อินเดียตัดสินใจไม่ร่วมด้วย ทำให้ผลประโยชน์ของนานาประเทศสมาชิกที่จะได้จาก RCEP เพราะอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ จำนวนประชากรมีมากถึง 1,300 ล้านคน ความต้องการสินค้าย่อมมีมาก เมื่ออินเดียถอนตัวออกไป GDP เดิม16 ประเทศ 49.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะลดลงเหลือ 46.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนประชากรลดลงจาก 3,400 ล้านคน เหลือ 2,100 ล้านคน

จับตา“อาร์เซ็ป”ไทยส่งออกยากขึ้น

 เหตุผลที่อินเดียเป็นห่วงคือ อินเดียไม่มีความสามารถในการแข่งขันมากพอ โดยอินเดียค้ากับประเทศสมาชิก RCEP ระหว่างปี 2017-2018(ปี 2560-2561) มากถึง 29.6% ของการค้าที่ทำกับทั่วโลก(ดูตาราง) การขาดดุลการค้ากับประเทศสมาชิกใน RCEP มีมากถึง 105 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงกลัวว่าหากร่วมความตกลง RCEP จะทำให้มูลค่าการขาดดุลการค้ามากขึ้นอีก โดยเฉพาะกับจีน (ซึ่งช่วงปี 2017 ขาดดุล 51.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2018 ขาดดุล 57.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการค้าทั้งหมด 95.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จึงคาดได้ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกมากถ้าเข้าร่วม RCEP

 

 

 

 

ที่จริงนักวิชาการเสนอว่า หากอินเดียเข้าร่วม จะมีการลงทุนจากนานาประเทศเข้าไปลงทุนในอินเดีย จะส่งผลให้อินเดียพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งออกได้มากขึ้น ลดการขาดดุลในระยะยาวได้ แม้ในระยะสั้นอาจจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นก็ตาม เหมือนอย่างที่จีนประสบความสำเร็จจากที่ต่างชาติเข้าไปลงทุนในจีนจำนวนมาก การเป็นส่วนหนึ่งใน Global Value Chain หรือห่วงโซ่การผลิต ย่อมให้ประโยชน์กับอินเดียได้มาก

เมื่ออินเดียถอนออก ประเทศสมาชิกใน RCEP อย่างเกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ยังไม่มีเอฟทีเอกับอินเดีย ก็จะหันมาสนใจลงทุนในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเพื่อส่งออกไปอินเดียเพราะอินเดียมีความตกลงเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย กับประเทศสมาชิกอาเซียน อินเดียเองก็ยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ มีการว่างงานมาก จึงคิดว่า RCEP จะทำให้ปัญหาที่กำลังมีจะรุนแรงมากขึ้น   

จับตา“อาร์เซ็ป”ไทยส่งออกยากขึ้น

 

 

 

 

ผลการศึกษาตีพิมพ์โดย World Economic Journal พบว่าผลจากอินเดียถอนตัวและสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างไรในระยะยาว  โดยทำนายว่าปี 2030 GDP ของนานาประเทศสมาชิกจะเป็นอย่างไร  GDP ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าอินเดียจะอยู่หรือไป แต่อินเดียถอนตัวจาก RCEP น่าจะได้ผลกระทบทางลบมากกว่า ส่วนจีนกลับได้ประโยชน์มากกว่าในระยะยาวเมื่ออินเดียถอนตัว 

 

จับตา“อาร์เซ็ป”ไทยส่งออกยากขึ้น

 

 

ผู้นำอินเดียกล่าวอ้างคติพจน์ของท่านมหาตมะคานธีที่ว่า “เมื่อไม่แน่ใจ การตัดสินใจควรคำนึงผลประโยชน์ของคนจนในประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” ท่านหมายถึงเกษตรกรที่ผลิตนมจะแข่งขันไม่ได้กับนมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และผู้ค้ารายย่อย อุตสาหกรรมขนาดเล็กต่าง ๆ ที่แข่งขันไม่ได้กับสินค้าจากประเทศจีน และนานาประเทศในอาเซียน

RCEP ไม่ได้ให้ประโยชน์กับไทยเรื่องการส่งออกสินค้าเพราะประเทศสมาชิกเดิมต่างก็มีเอฟทีเอกับไทยทั้งสิ้น อินเดียเดิมใน RCEP จะเปิดเสรีสินค้าให้ไทยมากถึง 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด มากกว่าที่เคยให้ไทยภายใต้ความตกลงเอฟทีเอไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย แต่เมื่ออินเดียถอนตัวประโยชน์นี้ก็หายไป ตรงกันข้าม RCEP จะให้ประโยชน์กับจีนเพราะจีนไม่เคยมีเอฟทีเอกับญี่ปุ่นและอินเดีย แม้อินเดียออกไปก็ยังมีญี่ปุ่น จะทำให้จีนส่งออกไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นได้น้อยลง

 

ในทางกลับกันญี่ปุ่นก็จะส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ก็อาจกระทบการส่งออกของไทยไปจีน ญี่ปุ่นเองก็ยังไม่เคยมีเอฟทีเอกับเกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ด้วย  การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับสองประเทศนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ก็อาจกระทบการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้และนิวซีแลนด์ได้  ทั้งหมดนี้หมายความว่า ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน นิวซีแลนด์ล้วนเป็นตลาดที่ไทยต้องแข่งขันมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมีคู่แข่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น การแข่งขันย่อมทำให้ผู้ประกอบการในไทยต้องปรับปรุงเพื่อให้แข่งขันได้ แต่ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยลำบากอยู่ทุกวันนี้คือ ค่าเงินบาท ที่แข็งค่าอย่างไม่มีสิ้นสุด (ยังหาคนมีความสามารถมาหยุดการแข็งค่าไม่ได้) จะทำให้การส่งออกของไทยจะลดลงไปเรื่อย ๆ GDPของไทยพึ่งการส่งออกมากถึง 70% จึงพอเห็นได้ว่า RCEP จะสร้างความลำบากให้ผู้ประกอบการไทย และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย