ถอดรหัสอินเดีย “ไม่โอเค” อาเซ็ป

14 พ.ย. 2562 | 10:40 น.

ถอดรหัสอินเดีย  “ไม่โอเค” อาเซ็ป

การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ จบลงเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งไฮไลต์สำคัญการประชุมระดับสุดยอดผู้นำครั้งนี้ คือ การเห็นชอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่เจรจายาวนาน 7 ปี (เริ่มปี 2555) ที่มีสมาชิก 16 ประเทศจาก 10 ประเทศอาเซียนและพันธมิตร 6 ประเทศแก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย  แต่ผลการเจรจา RCEP ครั้งนี้มีประเทศ 15 ประเทศเห็นชอบ ยกเว้นประเทศอินเดียที่ไม่เห็นชอบ

ถอดรหัสอินเดีย  “ไม่โอเค” อาเซ็ป

                         เวทีประชุมผู้นำอาร์เซ็ปครั้งล่าสุดที่ประเทศไทย

 เหตุผลของอินเดียคือ  1. "กังวลการขาดดุลการค้า” ของอินเดียกับประเทศ RCEP 14 ประเทศ (ไม่มีการค้ากับประเทศบรูไน) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2557 เป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2561 โดยขาดดุลการค้ากับประเทศจีนเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน และมากถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 (50% ของการขาดดุลของของอินเดียกับสมาชิก RCEP)  รองลงมาเป็นการขาดดุลการค้ากับออสเตรเลีย อินโดนีเซียและเกาหลีใต้

ถอดรหัสอินเดีย  “ไม่โอเค” อาเซ็ป

 ทำให้อินเดียกังวลสินค้าจีนจะเข้ามา แต่กังวลว่าอาเซียนจะเปิดตลาดภาคบริการและการลงทุนแค่ไหนสำหรับอินเดีย โดยฉพาะด้านไอที ที่คนอินเดียมีความถนัด ภายใต้ RCEP อินดียต้องลดภาษีจำนวน 80% ในกรอบระยะเวลา 10 15 20 ปีตามลำดับ และการที่สินค้าถูก ๆ ของจีนและประเทศอาร์เซ็ปทะลักเข้าอินเดีย จะกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของอินเดีย

 

ถอดรหัสอินเดีย  “ไม่โอเค” อาเซ็ป

2.สะเทือนนโยบาย “Make in India” ที่เริ่มเมื่อปี 2557 ที่เน้นให้อินเดียเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของโลกที่เกิดการผลิตของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้จะมุ่งส่งเสริมภาคการผลิตให้มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า 10% โดยยึดหลักการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การจ้างงานและการพัฒนาทักษะความสามารถ และชูศักยภาพไปยังนักลงทุนต่างชาติทั่วโลกว่า อินเดียเป็นสถานที่ที่เหมาะสมแก่การลงทุน โดยรัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม 25 ประเภท ที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ เคมี ไอที เภสัชกรรม สิ่งทอ ท่าเรือ การบิน เครื่องหนัง การท่องเที่ยวและบริการ การดูแลสุขภาพ ระบบทางรถไฟ อะไหล่ยานยนต์การผลิตสินค้าตามสั่ง พลังงานทดแทน เหมืองแร่ ไบโอเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ

 3. “กระทบสินค้าเกษตรภายในประเทศ” อินเดียสามารถผลิตสินค้าเกษตรทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารทุกประเภท และความต้องการก็มีมากทั้ง ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่ว   ถั่วเหลือง ทานตะวัน อ้อย ฝ้าย ผลไม้มีเกือบทุกชนิด รวมไปถึงปศุสัตว์ทั้งวัว ควาย แพะ แกะ ม้า อูฐ หมู และไก่ เป็นต้น เช่น “กรณียางพารา” คณะกรรมการยางอินเดีย (The Indian Rubber Board) ปี 2561 อินเดียผลิตยางพารา 642,000 ตัน ซึ่ง 90% ปลูกที่รัฐ Kerala ที่เหลือปลูกในรัฐ Tripura และ Karnataka (an analysis of shift in area to natural rubber  in Kasagod in district of Kerala,  NITHIN K.N. and MAHAJANASHETTI S.B., 2018) ผลผลิตต่อไร่ 1,580 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ (252 กก.ต่อไร่) บนพื้นที่ปลูก 5 ล้านไร่ มีความต้องการ 1.2 ล้านตัน (50% ใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ 15% ใช้ในยางรถจักรยานยนต์ และ 12% ในอุตสาหกรรมรองเท้า)  

ถอดรหัสอินเดีย  “ไม่โอเค” อาเซ็ป

นโยบายยางพาราของอินเดียในปี 2573 ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มผลผลิตให้เพิ่มอีก 9 แสนตัน เป็น 1.5 ล้านตัน มีเกษตรกรยางพารา 1 ล้านคน ซึ่งอินเดียกังวลยางพาราถูก ๆ จากเวียดนาม และอินโดนีเซียจะเข้ามา จากปัจจุบันรัฐบาลอินเดียยังเก็บภาษีนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศ

 

“กรณีมะพร้าว” อินเดียกังวลมะพร้าวจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เพราะจากผลผลิตมะพร้าวโลกอยู่ที่ 61 ล้านตัน (ปี 2561) “Big Three” ที่มีสัดส่วนการผลิตรวมกันถึง 73% ได้แก่ อินโดนีเซียสัดส่วน 31% ฟิลิปปินส์ 22% และอินเดีย 20% สำหรับมะพร้าวของอินเดียปลูกบนเนื้อที่ 12 ล้านไร่ 80% อยู่ในรัฐ Kerala  Karnataka, Tamil Nadu  and Andhra Pradesh  หากพิจารณา “Import Intensity” (สัดส่วนการนำเข้าต่อผลผลิตภายในประเทศ) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2552 อยู่ที่ 0.5 ปี 2560 อยู่ที่ 0.9 บางปีเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่มากกว่า 1%

ถอดรหัสอินเดีย  “ไม่โอเค” อาเซ็ป

 

“กรณีนมวัว” กังวลนมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้ามาถล่มเกษตรกรของอินเดีย เพราะอินเดียเป็นผู้ผลิตนมวัวอันดับ 3 ของโลก รองจากยุโรป และสหรัฐฯ จำนวนปีละ 80 ล้านตัน แต่อินเดียเลี้ยงโคนมมากที่สุดในโลก (58 ล้านตัว) ตามด้วยยุโรป และบราซิล

ถอดรหัสอินเดีย  “ไม่โอเค” อาเซ็ป

 

“กรณีรถยนต์” ตัวเลขของ OICA (Organization Internationale des Constructeurs d’ Automobiles) รายงานว่าในปี 2557 อินเดียสามารถผลิตรถยนต์นั่งและเชิงพาณิชย์รวม 3.8 ล้านคัน ปี 2561 ผลิตเพิ่ม 5 ล้านคัน แยกเป็นรถยนต์นั่ง 4 ล้านคัน และรถเชิงพาณิชย์  1 ล้านคัน อยู่อันดับที่ 6 ของโลก ตามหลังจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมัน และเกาหลีใต้ กลุ่มผลิตรถยนต์อย่าง “Society Indian automobile manufacturing (SIAM)” และ “Automotive Component Manufacturing  Association of India (ACMA)” ต้องการให้มีมาตรการปกป้องรถยนต์ ที่เรียกว่า “Auto trigger mechanism” เพื่อช่วยเยียวยาหากรถยนต์ของสมาชิกอาร์เซ็ปเข้ามาในตลาดอินเดียมากเกินไป  และ“กรณีเสื้อผ้า” อินเดียกังวลเสื้อผ้าจากเวียดนาม จีน และอินโดนีเซียเข้ามาตีตลาด

 

ความกังวลของอินเดียต่อผลกระทบสินค้าภายในประเทศน่าจะเป็นข้อคิดและ “กระจกบานใหญ่” สำหรับอาเซียนครับ