สารเคมี3.6หมื่นล.สะเทือน รัฐไม่ต่อใบอนุญาตนำเข้า

15 พ.ย. 2562 | 04:40 น.

นำเข้าเคมีเกษตร 3.6 หมื่นล้านสะเทือน เอกชนโวย ภาครัฐไม่ให้ต่อใบอนุญาตให้นำเข้า หลัง 3 สารเคมีถูกแบน ส่งสัญญาณเกษตรกรส่อขาดแคลนวัตถุดิบ แถมราคาแพงในปีหน้า ขณะที่กรมวิชาการเกษตรรับฟังความคิดเห็นบัญชีวัตถุอันตราย เตรียมส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา

 

ยังเป็นประเด็นร้อนสำหรับการแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติยกเลิกการใช้ โดยให้มีผลยกเลิกและห้ามครอบครองสารเคมีทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปนั้น แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงของหลายฝ่าย และพยายามผลักดันให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติใหม่ เนื่องจากเห็นว่าสารเคมีบางชนิดไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายหรือมีผลต่อสุขภาพ อีกทั้งยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการ หรือประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ประกอบกับกรมวิชาการเกษตร อยู่ระหว่างเปิดฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป ต่อร่าง ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่... ) พ.ศ….ที่ยังไม่แล้วเสร็จ หลายฝ่ายจึงเห็นว่าควรจะมีการทบทวนมติในการแบน 3 สารเคมี รวมถึงการกำจัดยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะใช้วิธีใด

 

อย่างไรก็ตาม มีการส่งสัญญาณมาว่า นอกจากภาครัฐจะมีการแบน 3 สารเคมีดังกล่าวแล้ว ขณะนี้มีความพยายามที่จะให้มีการยกเลิกใช้สารเคมีชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมอีก

แหล่งข่าวบริษัทผู้นำเข้าสารเคมีเกษตร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกรมวิชาการเกษตร กำลังพยายามที่จะควบคุมการใช้สารเคมีและผลักดันให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่นๆ นอกเหนือจาก 3 สารเคมีที่ถูกแบนไปแล้ว เห็นได้จากมีการควบคุมการนำเข้าสารเคมี จากการไม่ต่อใบอนุญาตให้กับผู้นำเข้าสารเคมีชนิดอื่นแล้ว โดยไม่มีการแจ้งสาเหตุ หรือประกาศให้ผู้ประกอบการรับทราบ ซึ่งถือเป็นการผิดปกติวิสัยของทางราชการ

 

ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำเข้าสารเคมีทางการเกษตรเห็นว่า หากภาครัฐดำเนินงานเช่นนี้ จะส่งผลกระทบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งบริษัทผู้นำเข้าและประเทศ เนื่องจากจะส่งกระทบไปยังเกษตรกรในปีหน้า สินค้าเกิดการขาดแคลน และราคาจะสูงขึ้นไป และจะเปิดช่องให้มีสินค้าลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนจะมีมากขึ้นและอันตรายกว่าเพราะเป็นสินค้าไม่มีมาตรฐานเข้ามา ดังนั้นรัฐบาลต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ เพราะสารเคมีในประเทศถือเป็นตลาดที่ใหญ่ โดยในปี 2561 มีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร (สารกำจัดวัชพืช, สารกำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช) มีปริมาณ 170,932 ตัน มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท จากผู้นำเข้ากว่า 300 ราย

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอยากจะขอทราบนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐว่า จากนี้ไปประเทศไทยจะเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ ก็ขอให้ประกาศชัดเจน แต่ถ้าวันนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ขอให้มีการต่อใบอนุญาตนำเข้าให้ได้ตามปกติ และสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนการห้ามใช้ 3 สารเคมี ขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ อาจจะมีบางตัวไม่แบน และอาจจะมีการทบทวน เพราะหลักฐานที่กล่าวอ้างก็ไม่มียืนยันว่ามาจากสารเคมี 3 ตัวนี้ อาจจะมีพลิกมติใหม่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการประชุมรอบหน้า แต่กระบวนการเริ่มแล้วไม่ออกใบอนุญาตให้นำเข้า ไม่ให้ผลิตเพิ่ม ไม่ให้มีการนำเข้า

สารเคมี3.6หมื่นล.สะเทือน  รัฐไม่ต่อใบอนุญาตนำเข้า

 

นายพิพัฒน์ พิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักนิติการ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป ต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่.. ) พ.ศ…. ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาความคิดเห็นในที่ประชุมครั้งต่อไปในเร็วๆ นี้เมื่อได้ผลสรุปจากคณะกรรมการจะมีการประกาศ ร่างประกาศฯ บังคับใช้ได้จะกำหนดให้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศนี้ที่ได้ดำเนินการก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน

 

ส่วนการกำจัด 3 สารเคมีที่ถูกแบนนั้น ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหน อยู่ระหว่างสำรวจสต๊อกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดว่า ยังมีอยู่ในประเทศเท่าไร และกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะสามารถอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศที่ยังใช้สารเหล่านี้อยู่ได้หรือไม่ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ค้า รวมถึงงบประมาณในการทำลายที่สูงถึงตันละ 1 แสนบาท

 

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า การยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดได้ร้องศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวไปแล้ว เพราะกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่กรมวิชาการเกษตรออกคำสั่งกำหนดแผนแจ้งการครอบครองและส่งมอบสารเคมีแล้ว จึงเห็นว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเพียงการทำให้ครบตามขั้นตอนเท่านั้น

 

รวมทั้งไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะนำความคิดเห็นของประชาชนและเกษตรกรไปพิจารณาเพื่อตัดสินใจแต่อย่างใด นอกจากนี้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังระบุว่า ค่าทำลายสารเคมีเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครอง เกษตรกรทั่วประเทศที่ซื้อสารเคมี 3 ชนิดมาไว้ใช้นั้น ต้องจ่ายค่าทำลายที่มีอัตราสูงมาก หรือกิโลกรัมละ 100 บาท หากสารวัตรเกษตรมาไล่จับเกษตรกรเชื่อว่า จะทำให้เกิดความวุ่นวายแน่นอน 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562

สารเคมี3.6หมื่นล.สะเทือน  รัฐไม่ต่อใบอนุญาตนำเข้า