‘เทรดวอร์’จบ ศก.พ้นปากเหว

13 พ.ย. 2562 | 09:20 น.

 

กูรูยังไม่ฟันธงเศรษฐกิจไทยผ่านจุดตํ่าสุด เหตุปัจจัยภายนอกยังผันผวนสูง ลุ้นการเจรจาการค้าได้ข้อยุติ เอื้อธุรกิจส่งออกฟื้นตัว

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ตํ่ากว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ 3% เห็นจากหลายสำนักทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงทั้งภาครัฐและเอกชน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับลดจาก 4.1% เหลือ 2.8% บนสมมติฐานการส่งออกติดลบ 2.5% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ปรับจาก 3.0% เหลือ 2.8% ขณะที่ส่งออกทั้งปีติดลบ 1.0% ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) จาก 3.0% เหลือ 2.8% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยหั่นจาก 3.1% เหลือ 2.8% หรือแม้แต่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดจาก 2.9-3.3% ลงเหลือ 2.7-3%

ทำให้เกิดคำถามว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดทำสุดมาแล้วหรือไม่ เพราะเหลือเพียงแค่ 2 เดือนก็จะสิ้นสุดปี 2562 แล้ว และในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ไตรมาส 3 หลังจากไตรมาส 2 จีดีพีขยายตัว 2.3% ลดลงจาก 2.8% ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อรวมครึ่งแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง 4.2% ทำให้สศช.ปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งปีลงจาก 3.3-3.8% มาอยู่ที่ 2.7-3.2% และประเมินการส่งออกจะติดลบ 1.2%

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย ตอบข้อถามผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาวะเศรษฐกิจไทยถึงจุดตํ่าสุดหรือยัง โดยระบุเพียงว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงจากต่างประเทศ ไม่ว่าผลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังไร้ข้อยุติ การค้าระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อซัพพลายเชนของโลก มีการปรับเปลี่ยนทั้งเส้นทางการส่งออกและการแสวงหาวัตถุดิบ นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ปีหน้า หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการให้เกิดความคึกคัก ซึ่งไม่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ จึงยากต่อการคาดเดาในแง่ผลกระทบที่จะนำไปสู่ความไม่แน่นอน ขณะเดียวกัน Technology Disruption ยังส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงทั่วโลก

“ผลจากปัจจัยต่างประเทศจะนำไปสู่ความไม่แน่นอน ซึ่งยากต่อการคาดเดา เนื่องจากปีนี้ตลาดปรับลดประมาณการจีดีพีค่อนข้างมาก ล่าสุดถ้าจีดีพีขยายตัว ได้ 3% ก็ดีใจ แต่แรงถ่วงมีอีกเยอะจีดีพีอาจจะไม่ถึง 3% แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลพยายามกันอย่างเต็มที่แต่จีดีพีจะเติบโตจากฐานที่ตํ่า”

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตระดับ 2.5-2.8% เทียบจากปี 2561 ที่เติบโต 4.1% และปีหน้าจะดีขึ้น จากเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนในทิศทางดีขึ้น และส่งออกเป็นบวกจากปีนี้ที่ติดลบ แรงหนุนจะมาจากการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ และการลงทุนในอีอีซี ทั้งนี้คาดจีดีพีไทยปี 2563 มีโอกาสจะขยายตัว 3-3.3% 

“ปัจจัยต่างประเทศ ผมมองว่า ไม่น่าห่วงโดยในเดือนสองเดือนการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน น่าจะจบลงแบบไม่มี Negative-sum game แต่จะไม่จบทีเดียวในปีนี้ยังลากไปถึงปีหน้า และปีหน้ายังเป็นปีที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งเชื่อว่าประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม” นายสมชายกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยที่ชะลอลง ยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ไม่คึกคักตามไปด้วย โดยเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของไทยในปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งพบว่า เริ่มติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ติดลบถึง 5.6% และเพิ่มสูงขึ้นเป็นติดลบ 9.1% ในเดือนกรกฎาคม ก่อนจะฟื้นตัวเล็กน้อยในเดือนสิงหาคมที่ติดลบ 5.3% และล่าสุดเดือนกันยายนติดลบ 2.3% 

แหล่งข่าวสศค. กล่าวถึงสาเหตุที่ VAT ติดลบมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากฐานการจัดเก็บปีก่อนที่สูง เนื่องจากมีการโอนทรัพย์สินของบริษัทแห่งหนึ่งให้กับบริษัทลูกเมื่อช่วงกลางปีก่อน ประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นปัจจัยพิเศษที่ทำให้ฐานสูงขึ้นกว่าปกติ แต่ก็ยอมว่า VAT ที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว โดยเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 แต่ยังเชื่อว่า การจัดเก็บ VAT จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังไตรมาส 3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้น จากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน มีทิศทางที่ดีมากขึ้นและแนวโน้มที่ดีเรื่องการเจรจา GSP รวมถึงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศผ่านมาตรการรัฐต่างๆ

“เชื่อว่า การจัดเก็บภาษี VAT ไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้น จากการส่งออกที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยคาดการณ์ครึ่งปีหลัง  การส่งออกจะติดลบเพียง 0.1% จากทั้งปีติดลบ 2.5% 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562

‘เทรดวอร์’จบ  ศก.พ้นปากเหว