ผ่าปฏิบัติการ120 วัน ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’

13 พ.ย. 2562 | 06:10 น.

 

ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.. ประยุทธ์ จันทร์โอช ระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคมนี้ มีกระแสข่าวออกมาว่า นอกจาก พล..ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี หัวเรือใหญ่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตกเป็นเป้าในครั้งนี้แล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นรัฐมนตรีอีกรายที่ต้องเจอศึกหนักในรอบนี้

รายการ NEWSROOM ห้องข่าวเศรษฐกิจ ซึ่งออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.30-11.45 . ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 ช่วง ลึกแต่ไม่ลับ กับ บากบั่น บุญเลิศ ตอน ตามหาปมอภิปรายรัฐมนตรี 120 วัน ครม.นายกฯลุงตู่ศักดิ์สยามของร้อนฝ่ายค้านสุมไฟใส่รัฐบาล ลุงตู่ ดำเนินรายการโดย บากบั่น บุญเลิศ และวิลาสินี แวน ฮาเรน ระบุว่า

นับตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่งถึงวันนี้ การบริหารงานของนายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม ถูกจับจ้องและตั้งข้อสังเกตจากสังคม มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายอธิบดีกรมการขนส่งทางบกให้ไปนั่งเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคมและโยกรองปลัดกระทรวงมานั่งเป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบกแทน

ที่ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายของกรมการขนส่งทางบกจากเดิมมีนโยบายกำหนดให้รถตู้โดยสารต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสเพื่อให้เหมาะกับ การขนส่งสาธารณะภายใน 10 ปีนี้ เป็น ยืดอายุให้รถตู้จาก 10 ปี เป็น 12 ปี ทั้งยังให้เป็นไป ตามความสมัครใจ ของผู้ประกอบการแทน

นายบากบั่นตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ว่า ในเชิงของการปฏิบัติจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า มีรถตู้จดทะเบียนกันทุกวัน ด้วยเหตุนี้รถตู้ที่มีอายุครบ 10 ปี ในแต่ละปีจึงมีมากถึง 4,000-5,000 คัน ไม่ใช่จำนวนหลักพันคันอย่างที่เข้าใจกัน ดังนั้นแนวนโยบายดังกล่าวนี้แทนที่จะพิทักษ์ชีวิตประชาชนที่ใช้บริการรถตู้สาธารณะที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน แต่กำลังไปเอื้อให้กับผู้ประกอบการเจ้าของรถตู้หรือไม่?

ขณะเดียวกันก็มีนโยบายให้รถส่วนบุคคลรับจ้างสาธารณะสามารถให้บริการผ่านแอพพลิเคชันได้ ซึ่งที่ผ่านมามีนโยบายให้เฉพาะรถแท็กซี่เท่านั้นที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชัน เพื่อ ให้เข้าสู่ระบบและสามารถตรวจสอบได้ วันนี้กลับมีนโยบายให้รถส่วนบุคคลสามารถวิ่งรับจ้างสาธารณะได้ด้วย

คำถามสำคัญ ก็คือเมื่อเปิดให้รถยนต์ส่วนบุคคลรับจ้างสาธารณะได้แล้ว เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องทำให้มีระบบการเสียภาษีที่ถูกต้องเช่นเดียวกับรถแท็กซี่ซึ่งบริการรับจ้างสาธารณะด้วย ปัจจุบันทราบว่าได้มีการยกร่างกฎกระทรวงขึ้นมา 2 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหากรณีไม่มีกฎหมายกำกับดูแลดังกล่าว

ถัดมา คือ กรณีการ เปลี่ยนรูปแบบลงทุนรถไฟฟ้า สายสีส้มฝั่งตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) มูลค่าโครงการ 122,041 ล้านบาทจากเดิมที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เป็นการลงทุนแบบ PPP Net Cost คือ ผู้ที่เสนอราคาขอรับเงินจากภาครัฐตํ่าที่สุดเป็นผู้ชนะ ภาครัฐลงทุนงานกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขณะที่เอกชนจะลงทุนงานโยธา ระบบไฟฟ้าขบวนรถไฟฟ้า ระบบเดินรถระบบซ่อมบำรุงทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงมีนบุรี-บางขุนนนท์ โดยนายศักดิ์สยาม ได้เสนอให้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ เป็น รัฐลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แบ่งงานโยธาฯ ออกเป็นหลายสัญญา

 

ผ่าปฏิบัติการ120 วัน  ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’

 
 

 

กล่าวคือ รัฐต้องไปหา งบประมาณมาเพื่อดำเนินโครง การนี้ กระทั่งที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษา แต่ท้ายที่สุดก็กลับมายึดตามมติเดิม คือ ให้ทำแบบ PPP เนื่องจากผลการศึกษา พบว่า รฟท.และกระทรวงคมนาคมไม่สามารถหาเงินมาดำเนินโครงการนี้ได้

อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ นโยบายจัดซื้อฝูงบินใหม่ จำนวน 38 ลำ ของการบินไทย (ปี 2562-2569) วงเงิน 156,000 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอให้จัดซื้อฝูงบินใหม่ในระยะที่ 1 จำนวน 25 ลำ ทั้งเครื่องบินลำตัวแคบและลำตัวกว้าง และระยะที่ 2 อีก 13 ลำโดยไม่มีการระบุยี่ห้อ และรุ่น ในขณะที่ล่าสุด ดีดีการบินไทย ออกมายอมรับกับสังคมว่า สถานการณ์การบินไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งนายศักดิ์สยาม ก็มีข้อเสนอใหม่ให้ทบทวนแผนจัดซื้อใหม่โดยให้เสนอกับบอร์ดการบินไทยภายใน 6 เดือน และให้ทบทวนแหล่งเงิน

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่าการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ทั้ง 38 ลำ วง เงิน 1.56 แสนล้านบาท ทางผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ ยืนยันว่าจะไม่เป็นภาระของงบประมาณโดยจะกู้ในนามบริษัทและรับภาระความเสี่ยงไว้แต่เพียงผู้เดียว จึงได้แนะนำไปว่า ต้องจัดซื้อเครื่องบินที่ได้มาตรฐานโลกเพื่อแข่งขันกับสายการบินรายอื่นให้ได้ โดยการบินไทยให้เหตุผลการจัดซื้อเครื่องบินจำนวนมากว่า เป็นการปรับปรุงฝูงบิน (Overhaul) ครั้งใหญ่

ทั้งยังระบุด้วยว่าการจัดซื้อฝูงบินครั้งนี้จะจัดซื้อแบบผสมผสานจาก 2 บริษัท คือ บริษัทแอร์บัสฯ และบริษัทโบอิ้งฯ แบ่งเป็น 2 ล็อตอย่างละครึ่ง เพราะไม่อยากผูกติดแผนส่งมอบเครื่องบินไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เกรงว่า จะกระทบกับการดำเนินงานหากส่งมอบล่าช้า

แต่จากข้อมูลล่าสุด ระบุว่า จากนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฝูงบินใหม่ในครั้งนี้ บริษัท แอร์บัสฯ ซึ่งเคยลงนามกับพล.. ประยุทธ์ นายกฯ ไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะลงทุนในศูนย์ซ่อมอากาศ ยานหรือ เอ็มอาร์โอ ที่อู่ตะเภานั้น ได้ประกาศถอนตัวแล้ว

 

นอกจากนี้ยังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับทางด่วน ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มากถึง 17 เรื่อง รวมมูลค่าเงินต้นข้อพิพาท 93,325 ล้านบาท ดอกเบี้ยอีก 44,192 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 137,517 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการต่อสู้ทางคดี

โดยประเด็นที่คาดว่าจะโดนฝ่ายค้านถล่มหนักหน่วงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของ ค่าโง่โฮปเวลล์ จำนวน 24,798 ล้านบาท ที่ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ประกาศยืนยันกับสังคมในวันที่เข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคมว่าคดีนี้หากมีแนวทางสามารถต่อสู้ได้ก็ต้องทำเพราะเป็นวงเงินจำนวนมาก หากมีโอกาสที่จะชนะคดีได้จะส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว

ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 นายศักดิ์สยาม ได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.ให้พิจารณา ซึ่งที่ประชุม ครม.ให้กลับไปทบทวนแนวทางการต่อสู้ เมื่อครบกำหนดในวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ได้ให้ทนายความไปดำเนินการสู้คดีแต่กลับถอนเรื่องกลางทาง ยอมเจรจากับโฮปเวลล์

เคยนำเสนอก่อนหน้านี้แล้วว่า การเจรจา โดยไม่สู้เท่า กับจ่าย จากที่เคยบอกกับสังคมว่า จะสู้คดีให้ถึงที่สุด แต่วันนี้ถอนเรื่องและเจรจา ซึ่งปลัดกระทรวงฯ ออกมาบอกชัดเจนว่า กำลังเจรจากับเอกชน ซึ่งก็ยังไม่รู้ผลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร การไม่ต่อสู้คดีฟ้องต่อเท่ากับจ่ายค่าโง่แล้วหรือยัง? ในเมื่องานเยอะ แผลก็เยอะ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีศักดิ์สยาม จะต้องตอบคำถามเหล่านี้ครับนายบากบั่น กล่าวทิ้งท้าย

 

คอลัมน์ เกาะติดซักฟอก 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562