มหิดล แนะวิธีลดเสี่ยงสมาร์ทโฟนทำนิ้วล็อค

10 พ.ย. 2562 | 07:55 น.

นักกายภาพบำบัด ม.มหิดล แนะวิธีใช้สมาร์ทโฟนลดเสี่ยงโรคกล้ามเนื้ออักเสบ เปลี่ยนจากพิมพ์เป็นโทร หรือใช้ข้อความเสียง และต้องเปลี่ยนอริยายททุก 30-40 นาที

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ จนเปรียบเหมือนเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 เลยทีเดียว เนื่องจากสมาร์ทโฟนมีแอปพลิเคชันที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของมนุษย์ โดยทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่การใช้งานที่มากเกินไปนั้น อาจนำมาซึ่งผลเสียต่อร่างกายได้

 

จากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 2561 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด พบว่า ผลจากการสำรวจประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนทั้งสิ้น 56.7 ล้านคน หรือ 89.6% ซึ่งผู้มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่ใช้มือถือสูงที่สุด ถึง 99.5%

มหิดล แนะวิธีลดเสี่ยงสมาร์ทโฟนทำนิ้วล็อค

กภ.จุติพร ธรรมจารี นักกายภาพบำบัดประจำศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ผู้ที่มารักษาที่ ศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนใหญ่จะอายุประมาณวัยทำงาน หรือราวๆ 40 ปี แต่พอตั้งแต่มีการใช้สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น พบว่ากลุ่มอายุของผู้เข้ารับการรักษาลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย อายุประมาณ 20 – 22 ปี มาเข้ารับการรักษากันมากขึ้นด้วยกลุ่มโรคกล้ามเนื้ออักเสบ โดยเป็นได้ตั้งแต่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ไปจนถึงคอ บ่า ไหล่

 

โรคกล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟน ได้แก่ “อาการนิ้วล็อก” ซึ่งเกิดจากการอักเสบบริเวณตรงเอ็นบริเวณข้อนิ้วมือ  ในส่วนของข้อมือมักพบ “โรคเดอ เกอร์แวง (De Quervain’s Disease)”หรืออาการปลอกเอ็นข้อมืออักเสบ ไล่ขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นในส่วนของโรคบริเวณข้อศอก จัดอยู่ในกลุ่มโรคเอ็นข้อศอกอักเสบ หรือที่เราเรียกกันว่า Tennis Elbow หรือ Golfer Elbow เนื่องจากไม่มีใครที่จะถือสมาร์ทโฟนโดยเหยียดข้อศอก เราจะต้องงอข้อศอกเล็กน้อยเพื่อให้สมาร์ทโฟนเข้ามาใกล้สายตาเรามากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เรางอข้อศอกนานๆ จะทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้นบริเวณเอ็นข้อศอกได้

ไล่ขึ้นมาถึงข้อไหล่ มักพบโรคเอ็นข้อไหล่อักเสบ เนื่องจากการถือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานด้วย และถ้าเรานั่งห่อไหล่หลังค่อม คอยื่น ก็จะทำให้เอ็นบริเวณข้อไหล่มีการกดทับกับโครงสร้างของกระดูก ซึ่งเมื่อเกิดการกดทับนานๆ หรือเกิดการเสียดสีนานๆ จะส่งผลให้เกิดการอักเสบ และอาการปวดตามมา นอกจากนี้ การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ จะส่งผลให้เกิดโรคในกลุ่ม Myofascial pain syndrome หรือพังผืดในกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการนั่งท่าเดียวนานๆ กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง ตึงรั้ง จนปวดตรงบริเวณบ่า และสะบัก และอาจจะร้าวขึ้นคอ ขมับ หรือกระบอกตา หรือบางรายที่นั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ จะเกิดการยึดรั้งของเส้นประสาทบริเวณแขนทำให้มีอาการปวดชาร้าวไปตามแขนได้เหมือนกัน และอาจทำให้กระดูกคอเสื่อมได้ เนื่องจากเป็นการนั่งที่ผิดหลักชีวกลศาสตร์ หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจส่งผลทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทได้เลยทีเดียว

 

สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบต่างๆ ที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนนั้น  กภ.จุติพร ธรรมจารี ได้แนะนำว่า หากต้องใช้สมาร์ทโฟนพิมพ์ข้อความยาวๆ สำหรับการติดต่อเรื่องที่สำคัญ ควรเปลี่ยนจากการพิมพ์เป็นการโทร 

มหิดล แนะวิธีลดเสี่ยงสมาร์ทโฟนทำนิ้วล็อค

นอกจากนี้ อาจใช้เป็นข้อความเสียง หรือการพิมพ์อักษรด้วยเสียงผ่านฟีเจอร์ในสมาร์ทโฟน และไม่ควรนั่งท่าเดียวนานๆ ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 – 40 นาทีด้วยการขยับยืดเหยียดเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อนอกจากนี้ควรหาหมอนหรืออะไรก็ตามที่เหมาะสมสำหรับรองตรงบริเวณข้อศอก เพื่อให้สมาร์ทโฟนอยู่ในระดับสายตา จะได้ไม่ต้องก้มหน้านานๆ ซึ่งจะส่งผลต่อกระดูกคออีกทั้งจะได้ช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหรือไหล่ที่จะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดแขน ส่วนเรื่องขนาดของตัวอักษร และความสว่างหน้าจอก็มีส่วนสำคัญ เพราะหากสมาร์ทโฟนมีขนาดตัวอักษรที่เล็กเกินไป หรือมีความสว่างไม่เพียงพอ จะทำให้เรายิ่งต้องก้มและต้องเพ่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อที่คอ และตาได้

ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมอบรมฟรีในหัวข้อ"เล่นมือถือ อย่างมีความสุข Smart Phone Smart Posture" เพื่อให้ได้ทราบถึงสาเหตุของการบาดเจ็บ และโรคที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟน การใช้สมาร์ทโฟนอย่างถูกต้อง และการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันและรักษาเมื่อเกิดการบาดเจ็บ และจะได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในหัวข้อที่น่าสนใจอื่นๆ 

อีก ทั้งในเรื่องของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทางระบบประสาทกิจกรรมบำบัด ตลอดจนกายภาพบำบัดในเด็ก เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งหัวข้อจะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการจัดอบรม และบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับกายภาพบำบัดได้ที่www.pt.mahidol.ac.th หรือ FB: ศูนย์กายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล