แลกหมัดกลุ่มซีพี-กองทัพเรือ คดีอู่ตะเภา2.9แสนล้าน

12 พ.ย. 2562 | 23:00 น.

 

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562  ศาลปกครองสูงสุด แจ้งวัฒนะ มีกำหนดพิจารณาคำอุทธรณ์คดีกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้งฯ (เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี) พร้อมพันธมิตร  ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องบางรายการ ซึ่งได้แก่ กล่องที่ 6 และ กล่องที่ 9 เพราะยื่นเกินเวลาที่กำหนด ถัดมาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีดังกล่าว ก่อนผู้ฟ้องมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกรอบ

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ศาลปกครองสูงสุด มีการไต่สวนนัดแรก โดยนางสาวปะราลี เตชะจงจินตนา ผู้ได้รับมอบ อำนาจจากบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ตัวแทนผู้ฟ้อง ชี้แจงเน้นยํ้าใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. เรื่องสถานที่เกิดเหตุ ควรเป็น การพิจารณาในส่วนเหตุการณ์ที่เกิด ห้องรับรอง ของกองบัญชาการ กองทัพเรือ ไม่ใช่ จุดลงทะเบียน

2. ผู้ยื่นซองประมูลทั้ง 3 กลุ่ม มีเอกสารจำนวนมาก จำเป็นต้องทยอยขนส่ง พร้อมยืนยันทางกลุ่ม มีเอกสารประกอบสำหรับการยื่นประมูลอย่างครบถ้วนพร้อมแล้ว ขณะนั้น รวมไปถึงกล่องที่ 6 และ 9 ด้วย ซึ่งมีการชำระค่าธรรมเนียมตรวจรับเรียบร้อยจากคณะกรรมการแล้ว ผู้ถูกฟ้องจึงมีหน้าที่รับพิจารณาด้วยความเป็นธรรม

3. มีความเห็นว่า หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองก่อนหน้า ก็ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจะทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม เพราะยืนยันทางกลุ่ม ไม่สามารถล่วงรู้ข้อเสนอของอีก 2 กลุ่มได้ ในทางตรงกันข้าม กลับจะเป็นประโยชน์ของรัฐในการคัดเลือกเอกชนอย่างกว้างขวาง และเท่าเทียมมากกว่า

ด้านผู้ถูกฟ้อง พล...เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก ตัวแทนจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชี้แจงว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่สำคัญต่อประเทศ กองทัพเรือเองได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการคัดเลือกเอกชนสำหรับโครงการร่วมลงทุนลักษณะดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาระสำคัญ คือ เรื่องเวลา อีกทั้งโครงการอู่ตะเภา มีการใช้หลักเกณฑ์ กระบวนการต่างๆ เช่นเดียวกับ โครงการ อื่นๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง ผู้ฟ้องเองมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิด และรับทราบถึงกระบวนการอย่างดี แต่กลับพบว่ามีปัญหา และชี้แจงว่าไม่เข้าใจกระบวนการ พร้อมยกเหตุผลใน 5 ประเด็น ดังนี้


 

1. ข้อเท็จจริงกล่องที่ 6 และ 9 มีการยื่นเกินจากเวลาที่กำหนด ผ่านหลักฐานจากภาพถ่ายวิดีโอ ว่าส่งผ่าน จุดลงทะเบียน ในเวลา 15.09 .

2. คำพิพากษาใดๆ ของศาลในอนาคต หากมีการพลิก จะมีผลผูกพันถึงบรรทัดฐานทางสังคม ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐในอนาคต เปรียบเทียบในอดีต เคยมีคดีความการยื่นซองประมูลช้าจากกำหนดไปเพียง 39 วินาที ก็ไม่อาจตรวจรับได้ จึงอยากให้ศาลพิพากษาอย่างเป็นธรรม

3. ผู้ถูกฟ้องพบว่า ผู้ฟ้องพยายามหาช่องทางให้การประมูลของกลุ่มตนเองเดินหน้าได้ ผ่านการหาข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในเอกสารยืนยันชัดเจนว่า คนที่มีอำนาจในการขยายเวลาประชุม หรือ มีมติต่อเรื่องใดๆ ได้ มีเพียงคณะกรรมการเท่านั้น เจ้าหน้าที่อื่นๆ มิมีอำนาจกระทำการใดๆ ทั้งสิ้น

4. นอกเหนือจากช่องทางดังกล่าวแล้ว พบว่า ผู้ฟ้อง ยังมีการกล่าวอ้าง ว่าหากสามารถเข้าร่วมประมูลได้ จะทำให้รัฐเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่เห็นด้วย เพราะประโยชน์ที่รัฐจะได้รับสูงสุด ควรเป็นไปด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง โปร่งใส และยุติธรรมต่อผู้เสนอรายอื่นๆ มากกว่า

5. พบวิสัยของผู้ฟ้องมีพฤติการณ์ผิดปกติ ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้น อาจประเมินได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในซองเอกสารบางอย่างหรือไม่

 

แลกหมัดกลุ่มซีพี-กองทัพเรือ  คดีอู่ตะเภา2.9แสนล้าน

 

 “ถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เรื่องเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ ทั้งที่ก่อนๆ หน้านี้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที โดยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในดคีนี้ ให้บริษัท ธนโฮลดิ้งฯได้สิทธิเข้าประมูล เท่ากับเป็น การทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่าต่อไปใครจะ มายื่นซองเวลาไหนก็ได้ หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ ว่าแม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้พล...เกริกไชย กล่าว

ต่อมา นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นประจำตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองสูงสุด มีความเห็นในตอนท้ายการพิจารณาคดี ซึ่งไม่มีผลผูกพันกับคำพิพากษาของศาลในอนาคตว่า ให้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยให้ความเห็นว่า คดีดังกล่าว เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีเอกสารจำนวนมากเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีการชี้แจงถึงกระบวนการที่ชัดเจนให้ผู้ยื่นเสนอทราบเป็นการล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเป็นธรรม แต่จากข้อเท็จจริง ปรากฏว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่มีเอกสารลำดับกระบวนการที่ชัดเจนมาก่อน ตั้งแต่เปิดลงทะเบียน ไปจนถึงการเข้ายื่นข้อเสนอในห้องรับรอง

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องมีพฤติการณ์ที่น่าสงสัย อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อเสนอ จนเกิดความล่าช้านั้น มีความเห็นว่า ไม่น่าจะสามารถกระทำการดังกล่าวได้ และไม่สามารถเปลี่ยนใดๆได้ เนื่องจากเอกสารทั้งหมดที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ตรวจรับจากผู้ยื่นทั้ง 3 กลุ่ม ขณะนั้นได้ถูกนำไปจัดเก็บอย่างปลอดภัย และไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า การล่าช้าดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 กลุ่มจะเสียเปรียบ แต่หากศาลพิพากษาให้ตรวจรับข้อเสนอของผู้ฟ้อง ย่อมจะเป็นการเปิดโอกาสให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเป็นธรรม และได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562