“Grab vs GET” ปลุกสงคราม แอพฯสั่งอาหาร

13 พ.ย. 2562 | 06:15 น.

แกร็บ เปิดตัวเลขเรียกใช้บริการ 10 เดือน 120 ครั้ง ส่งอาหารโตเร็วสุด รับพฤติกรรมผู้บริโภคไม่อยากเสียเวลาเดินทาง-รอที่ร้าน เดินหน้าขยายบริการครอบคลุม 30 จังหวัด ปี 63 ด้านเก็ท เผยให้บริการแล้วกว่า 10 ล้านทริป พร้อมเดินหน้าเจาะลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียล ชูกลยุทธ์สร้างคอมมิวนิตีร้านอาหารและคนขับ

 

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2562 ธุรกิจของแกร็บในไทยมีการเติบโตในทุกกลุ่ม โดย 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 62) มียอดเรียกใช้บริการรวมกว่า 120 ล้านครั้ง มากกว่าคู่แข่ง 12 เท่า คาดว่าภายในสิ้นปี จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากการเรียกใช้บริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติจีน

 

โดยบริการที่มีการเติบโตแบบโดดเด่นในปี 2562 คือ แกร็บฟู้ด โดยครองอันดับ 1 ในฐานะแบรนด์โปรดของลูกค้าในการสั่งอาหารออนไลน์จากการวิจัยทางการตลาดโดยกันตาร์ ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก โดย 54% ของผู้บริโภคลงคะแนนให้แกร็บฟู้ดเป็นแพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ที่ใช้บ่อยที่สุดในไตรมาส 3 ของปี 2562 ขณะที่แบรนด์ของคู่แข่งอยู่ที่ 21%

ปัจจัยที่ทำให้แกร็บฟู้ดเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารอันดับ 1 ที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในไทย คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาใช้บริการแอพ สั่งอาหารมากขึ้น เพราะไม่อยากเสียเวลาเดินทาง หรือไปรอที่ร้าน นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการขยายพื้นที่ให้บริการ โดยขณะนี้เปิดให้บริการใน 20 เมือง 14 จังหวัด ซึ่งภายในปี 2563 จะขยายบริการให้ครอบคลุม 30 จังหวัด นอกจากนี้ยังมาจากกลยุทธ์การผูกพันธมิตรตั้งแต่แบรนด์ชั้นนำ ไปจนถึงสตรีตฟู้ด รวมถึงร้านดังในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันมีโมเดลธุรกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบเติบโต มีจุดแข็งทั้งจำนวนร้านอาหารมากสุด จำนวนดีลมากสุด และเวลาการจัดส่งที่รวดเร็ว โดยเฉลี่ยการส่งอาหารแต่ละครั้งใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที โดยมีคนขับส่งอาหารหลักๆ อยู่ 1 แสนราย

 

“ธุรกิจแอพออนดีมานด์ เหมือนกับอี-คอมเมิร์ซ 5 ปีที่แล้ว โดยยังอยู่ในช่วงเอส-เคิร์ฟ ที่ทุกรายแข่งขัน มีการลงทุน เพื่อสร้างฐานลูกค้าขึ้นมา ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะช่วยให้ตลาดมีการเติบโตขึ้น โดยในส่วนของแกร็บฟู้ดนั้นยอมรับว่าขณะนี้ธุรกิจยังไม่มีกำไร เพราะยังอยู่ในช่วงการลงทุน ซึ่งในปี 2563 นั้นกลยุทธ์หลักยังมุ่งเน้นไปยังบริการแกร็บฟู้ด เป็นหลัก”

“Grab vs GET”  ปลุกสงคราม แอพฯสั่งอาหาร

 

ด้านนางสาววงศ์ทิพพา วิเศษเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายแพลตฟอร์มโอเปอเรชัน GET เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล หรือคนในกลุ่มเจน Y และเจน Z ในช่วงอายุตั้งแต่ 18-34 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนกลุ่มมิลเลนเนียลเติบโตมาในช่วงของการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยพบว่าคนกลุ่มนี้มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตมากถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน และมีสัดส่วนเป็นผู้หญิง 67% ขณะที่ในปี 2562 บริการส่งอาหารและแอพพลิเคชันสำหรับส่งอาหารมีเพียง 8% เมื่อเทียบกับธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนจากร้านอาหาร 25,740 ล้านบาท คนขับ (Driver) 3,903 ล้านบาท และแอพพลิเคชัน 3,357 ล้านบาท จะเห็นว่าผู้ได้ประโยชน์สูงสุดคือ เจ้าของร้านอาหารและคนขับ ที่สามารถสร้างรายได้ และสร้างงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า คนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการสั่งอาหารแบบ Order for One หรือสั่งเพื่อกินคนเดียว เนื่องมาจากจำนวนคนโสดและครอบครัวเดี่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น ถึง 34% และจำนวนผู้ที่อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์กว่า 33%

 

อีกทั้งคนกรุงเทพฯ ยังมีพฤติกรรมการสั่งอาหารตลอดทั้งวัน มีการสั่งอาหารว่างทั้งมื้อเช้า มื้อบ่าย และมื้อดึก คิดเป็นยอดประมาณ 28% ของยอดสั่งตลอดวัน เช่น ขนมปังไส้ต่างๆ ที่เป็นของกินเล่นนั้น ที่ในเดือนตุลาคมมียอดขายต่อเดือนกว่า 190,000 ชิ้น โดยมื้ออาหารที่คนนิยมสั่งมากที่สุดคือมื้อเย็น อีกทั้งใน 1 เดือน GET มียอดสั่งชานมไข่มุกกว่า 300,000 แก้ว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ร้านอาหารสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากขึ้น

 

“ปัจจุบันแอพพลิเคชัน เก็ทมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 1.7 ล้านครั้ง และให้บริการไปแล้วรวมกว่า 10 ล้านทริป ตั้งแต่เปิดให้บริการ ทั้งนี้เก็ทมีกลยุทธ์หลัก คือเน้นการสร้างคอมมิวนิตี ทั้งฝั่งร้านอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกว่า 20,000 ร้าน และฝั่งไดรเวอร์อีกกว่า 30,000 คน ที่เก็ทต้องการจะผลักดันให้เกิดการเติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยยังไม่ได้มองถึงเรื่องของการหารายได้เป็นหลัก”

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3521 ระหว่างวันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน 2562