‘เอสเอ็มอี’ยังอ่วม บาทแข็งฉุดรายได้ทรุดทะลุ 20%

08 พ.ย. 2562 | 05:55 น.

เงินบาทพ่นพิษฉุดรายได้เอสเอ็มอีหาย 10-20% ชี้ความสามารถทางการแข่งขันลดลง เหตุเงินหยวนอ่อนค่าสวนทางวอนรัฐออกมาตรการดูแลช่วยเหลือ

ในปี 2562 ถือว่าเป็นปีที่ค่าเงินบาทของไทยอยู่ในสถานะที่เรียกว่าแข็งค่า และยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปีไปแล้วที่ระดับ 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคยแข็งค่าไปแตะที่ระดับ 30.19 บาทต่อดอลาร์สหรัฐฯ จากสถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออก  เพราะ จะทำให้ความสามารถทางการแข่งขันลดลง  ขณะที่รายได้จากการแปลงเป็นสกุลเงินบาทก็ได้น้อยลง  โดยเฉพาะกลุ่มของเอสเอ็มอี ซึ่งส่วนใหญ่มีสายป่านสั้น

จากสถานการณ์ดังกล่าวนางอรัญญา เชาว์กิตติโสภณผู้จัดการทั่วไป บริษัท รอยัล เซรา มิคส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเซรามิกที่ใช้บนโต๊ะ อาหาร กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าตั้งแต่ต้นปีได้ส่งผลให้รายได้ของบริษัทหายไปประมาณ 20% เนื่องจากบริษัทไม่สามารถรับออร์เดอร์จากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่ติดต่อเข้ามาได้ จากความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง เพราะสู้ราคาจากผู้ประกอบการจีนที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไม่ได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกอยู่ประมาณ 20-30% จากการทำตลาดทั้งหมด

ทั้งนี้  วิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น  บริษัทจึงต้องมุ่งเน้นการทำตลาดในประเทศให้มากขึ้น  โดยการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นกระเบื้องหลังคาบ้าน  หรือหลังคาวัด และอะไรก็ตามที่เป็นเซรามิก โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีความคงทน  สีสันสวยงามตลอดอายุการใช้งาน เพราะเป็นการเผาเซรามิกด้วยไฟที่กำลังแรงมาก ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากดินเปียก หรือคอนกรีต  

“การผลิตแบบนี้ในประเทศไทยมีทำกันอยู่น้อยมาก เพราะต้องมีการลงทุนเครื่องจักรที่ทันสมัย โดยบริษัทเริ่มดำเนินการแนวคิดดังกล่าวมาได้ประมาณ 2 เดือน และมีออร์เดอร์คำสั่งซื้อเข้ามาเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทจะค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับลูกค้าทุกรายที่เข้ามาหรือปรึกษางาน ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือความรับผิดชอบต่องานของตนเอง และของลูกค้า”   

นอกจากนี้  บริษัทจะมุ่งเน้นการออกงานแสดงสินค้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งาน และความต้องการของผู้บริโภคที่นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท อีกทั้งจะยังคงรักษาตลาด และฐานลูกค้าเดิมบนช่องทางการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด

“ในความเป็นจริงปัญหาสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีนน่าจะทำให้ผู้ประกอบการในไทยได้รับประโยชน์ แต่จากค่าเงินบาทที่แข็ง และค่าเงินหยวนที่อ่อนลง  ทำให้สถานการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น  โดยค่าเงินที่ลดลง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อเงินบาทประมาณ 2.40 บาท จากเดิมที่เงินบาทเคยอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯมาอยู่ที่ระดับประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเท่าที่พูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการด้วยกันในแถบภาคตะวันออก  ซึ่งมีการส่งออก 100% ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากค่าเงินบาท”

‘เอสเอ็มอี’ยังอ่วม  บาทแข็งฉุดรายได้ทรุดทะลุ 20%

นายฉัตรชัย โพธิ์วรสิน ที่ปรึกษา บริษัท โรสอารยา ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทยส่งออกด้วยนวัตกรรมแช่แข็งภายใต้แบรนด์ “ใบสลาด”  กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งได้ส่งผลทำให้รายได้ของบริษัทหายไปประมาณ 5-10% เท่านั้น เนื่องจากบริษัทมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว  จากเดิมที่บริษัทจะมีการจัดโปรโมชันซื้อผลิตภัณฑ์  และจะมีการแถมในช่วงที่ต้องการกระตุ้นตลาด  ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนนำมาใช้ในช่วงนี้ เพื่อทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่ามีต้นทุนที่สูงเกินไป  ไม่เช่นนั้นรายได้ของบริษัทอาจจะหายไปมากกว่าที่เป็นอยู่

“ธุรกิจของบริษัทเป็นการส่งออก 100% โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ที่สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งปัจจุบันยังจำหน่ายได้ดีตามปกติ  เพียงแต่โดนผลกระทบเรื่องของค่าเงินบาททำให้รายได้หดหายไป โดยหากเป็นไปได้ต้องการให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดู หรือมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มของเอสเอ็มอีที่มีทุนไม่มากนัก  เพื่อรักษาธุรกิจ”    

นายสิวพงศ์  สัจจะวัฒนวิมล  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท  เนทีฟฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปลาร้าพาสเจอไรซ์ แบรนด์ “ปลายจวัก” กล่าวว่า บริษัทเริ่มได้รับผลกระทบบ้างพอสมควรจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ยังไม่มากนัก  เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงมาก  อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการเรื่องเอกสาร  เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ประเทศสหรัฐฯ  และกลุ่มประเทศในแถบยุโรป หรืออียู ซึ่งคาดว่าน่าจะเรียบร้อยในเดือนธันวาคมนี้

“หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่ หลังจากที่แบรนด์สามารถเข้าไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ และอียูได้แล้ว น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากต่อยอดขาย เมื่อต้องมีการแปลงเงินเป็นสกลุเงินบาท โดยค่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมกับการส่งออกมองว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  แต่หากเงินบาทแข็งค่าตํ่ากว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจ” 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3520 วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2562